ทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าบริการของ Google Play

นักพัฒนาแอปต้องเสียค่าบริการ Google Play โดยอิงตามเปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อหรือการซื้อแบบดิจิทัลในแอปของตน 

ค่าบริการของเราแสดงถึงคุณค่าที่สำคัญซึ่งนักพัฒนาแอปได้รับจาก Android และ Google Play ค่าบริการยังเป็นวิธีสร้างรายได้สำหรับธุรกิจของเราและสนับสนุนการลงทุนใน Android และ Google Play รวมถึงช่วยให้เราสามารถเผยแพร่ Android ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนมอบชุดเครื่องมือและบริการซึ่งช่วยให้นักพัฒนาแอปสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และรักษาแพลตฟอร์มของเราให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลกไปพร้อมๆ กันด้วย

คำถามที่พบบ่อย

ทำไม Google Play จึงเรียกเก็บค่าบริการ

ค่าบริการช่วยสนับสนุนการลงทุนของเราใน Android และ Google Play ให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ Android และ Google Play มีให้ ทั้งยังเป็นวิธีสร้างรายได้ของเราในฐานะธุรกิจรายหนึ่ง การพัฒนา เปิดตัว และทำการตลาดให้แอปต้องมีค่าใช้จ่ายฉันใด การพัฒนา เปิดตัว และทำการตลาดให้ระบบปฏิบัติการและ App Store ก็มีค่าใช้จ่ายฉันนั้น ธุรกิจรูปแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับร้านค้าแอปและเกมที่ดำเนินการโดย Microsoft, Apple, Steam, Nintendo, Amazon และบริษัทอื่นๆ

ค่าบริการมีราคาเท่าไหร่

เราไม่มีค่าบริการตายตัว เนื่องจากนักพัฒนาแอปดำเนินการหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้ระดับการสนับสนุนที่แตกต่างกันในการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน 99% ของนักพัฒนาแอปที่ต้องเสียค่าบริการสามารถรับสิทธิ์จ่ายค่าบริการระดับ 15% หรือน้อยกว่านั้น ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าบริการของเราได้ที่บทความในศูนย์ช่วยเหลือนี้

ใครต้องเสียค่าบริการบ้าง

นักพัฒนาแอปที่เรียกเก็บเงินค่าแอปหรือนำเสนอสินค้าดิจิทัลและต้องเสียค่าบริการมีเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามีนักพัฒนาแอป 97% ที่สามารถเผยแพร่แอปและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและบริการสำหรับนักพัฒนาแอปทั้งหมดของเราได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ค่าบริการนำไปใช้จ่ายกับเรื่องใดบ้าง

ค่าบริการช่วยสนับสนุนการลงทุนของเราใน Android และ Google Play แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ Android และ Google Play มีให้ ช่วยให้เราสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้ที่ทันสมัยในราคาที่เข้าถึงได้ ช่วยให้นักพัฒนาแอปเข้าถึงผู้ใช้และสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนได้ และช่วยรักษาแพลตฟอร์มให้ปลอดภัย

การลงทุนในด้านหลักๆ ได้แก่

  • Android และ Google Play Store: ระบบปฏิบัติการ Android ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายช่วยให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สามารถสร้างอุปกรณ์ที่หลากหลายในช่วงราคาต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ Google Play Store ยังมีแอปและเกมที่คัดสรรมาไว้มากที่สุด โดยให้บริการในประเทศต่างๆ กว่า 190 ประเทศ พร้อมด้วยคำแนะนำที่ปรับเปลี่ยนเฉพาะบุคคลและการค้นหาแอปคุณภาพสูงก็ทำได้ง่าย
  • แพลตฟอร์ม Android ใหม่: เราสร้างแพลตฟอร์มสำหรับอุปกรณ์รูปแบบใหม่ๆ เช่น Auto และ TV เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงให้แก่นักพัฒนาแอปในช่องทางต่างๆ
  • ความปลอดภัย: ผู้บริโภคไว้วางใจ Android และ Google Play เพราะความปลอดภัย การตรวจสอบแอปช่วยให้มั่นใจได้ว่าแอปเป็นไปตามนโยบายด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยแบบอัตโนมัติของ Google Play Protect ซึ่งสแกนแอปกว่า 1 แสนล้านแอปต่อวัน
  • การเผยแพร่แอป: นักพัฒนาแอปเข้าถึงผู้ใช้ Android กว่า 3 พันล้านคนได้ทันที พร้อมด้วยความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งตามอุปกรณ์และฟังก์ชันการทำงาน ตลอดจนให้บริการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง
  • เครื่องมือสำหรับนักพัฒนาแอป: นักพัฒนาแอปสามารถทำการทดสอบ, ทดสอบเบต้า, เพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store, วิเคราะห์ประสิทธิภาพ และอื่นๆ
  • ระบบการเรียกเก็บเงิน: ผู้ใช้จะอุ่นใจกับการชำระเงินที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ขณะที่นักพัฒนาแอปสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายๆ กับผู้ใช้ 700 ล้านคนที่ใช้บัตรของขวัญ Google Play และรูปแบบการชำระเงินซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่
คุณค่าที่นักพัฒนาจะได้รับจาก Google Play

พันธกิจหลักของเราคือการช่วยให้นักพัฒนาแอปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น เรายังคงลงทุนในแพลตฟอร์ม เครื่องมือ และบริการต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนนักพัฒนาแอปอยู่เสมอด้วย เราช่วยให้นักพัฒนาเผยแพร่แอปสู่ผู้ใช้ Android หลายพันล้านคนได้โดยง่าย และสร้างรายได้จากผู้คนทั่วโลกโดยเลือกรูปแบบการรับเงินที่ต้องการซึ่งใช้ในประเทศของตนได้

นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องมือและบริการต่างๆ ที่ช่วยให้นักพัฒนาแอปจัดการการเผยแพร่แอป, โอกาสในการโปรโมตและมีส่วนร่วมอีกครั้งใน Play Store, เครื่องมือในการทดสอบและเพิ่มประสิทธิภาพ, การวิเคราะห์ข้อมูล, การสนับสนุนด้านเทคนิค, การฝึกอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่ายกับ Play Academy และอีกมากมาย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการบางอย่างที่มีให้นักพัฒนาแอป

การพัฒนาแอป

เครื่องมือของ Android

เรามีเครื่องมือและทรัพยากรที่จะช่วยให้นักพัฒนาแอปสร้างประสบการณ์ที่ผู้ใช้ชื่นชอบ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่รวดเร็วและง่ายขึ้นในอุปกรณ์ Android ทุกเครื่อง ตัวอย่างเช่น Android Studio เป็นสภาพแวดล้อมในการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบผสานรวมอย่างเป็นทางการสำหรับการพัฒนาแอป Android ซึ่งมีทุกสิ่งที่จำเป็นในการสร้างแอป Android รวมถึงดัชนี SDK สำหรับทรัพยากร Dependency ยอดนิยม ข้อมูลเชิงลึกด้านคุณภาพของแอปจาก Firebase Crashlytics และโปรแกรมจำลองอุปกรณ์เสมือนจริง
 

Google Play Academy 

เรามีการฝึกอบรมแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่าน Google Play Academy ให้แก่นักพัฒนาแอป นักธุรกิจ และนักการตลาดของแอปและเกมใน Google Play Play Academy เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตแอปรายใหม่ๆ ที่มีความมุ่งมั่น รวมถึงแบ่งปันความรู้และแนวทางปฏิบัติแนะนำในการสร้างธุรกิจแอปหรือเกมที่ประสบความสำเร็จ โดยนักพัฒนาแอปจะได้รับข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเครื่องมือของเรา และยังได้เรียนรู้วิธีออกแบบแอป เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตัว และเพิ่มระดับการเข้าถึงของผู้ใช้ด้วย ไม่เพียงเท่านี้ Google Play Academy ยังมีการฝึกอบรมสำหรับนักพัฒนาแอปที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ด้วยหลักสูตร "เจาะตลาดโลก" ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตก ลาตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

การทดสอบแอป

เราอนุญาตให้นักพัฒนาแอปทำการทดสอบแอปรุ่นเบต้ากับผู้ใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น นักพัฒนาแอปสามารถรวบรวมความคิดเห็นส่วนตัวหรือตอบกลับผู้ทดสอบแอปได้โดยตรงผ่าน Play Console  รวมถึงสามารถทำการทดสอบแอปเวอร์ชันใหม่ก่อนเปิดตัวได้ด้วย นอกจากนี้ นักพัฒนาแอปยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ใน Google Play ใช้แอปเวอร์ชันทดสอบได้ด้วย เพื่อรับความคิดเห็นล่วงหน้าหรือติดตามเมตริกในแอปก่อนการเปิดตัวได้
 

รายงานก่อนการเปิดตัว

ในกรณีที่ทำการทดสอบแอปกับผู้ใช้กลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มใหญ่ นักพัฒนาแอปจะตั้งค่าและเรียกใช้รายงานก่อนการเปิดตัวเพื่อระบุปัญหาของแอปก่อนเผยแพร่ได้ รายงานก่อนการเปิดตัวจะระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับแอปซึ่งอาจส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ เช่น ความเสถียร ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของแอป
 

การเพิ่มประสิทธิภาพของแอป 

เรามีเครื่องมือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ออกแบบมาเพื่อให้นักพัฒนาแอปวัดและเพิ่มประสิทธิภาพของแอปและเกม เพื่อให้วิดีโอมีคุณภาพสูงขึ้นและเวลาหน่วงน้อยลง บริการนี้ช่วยให้นักพัฒนาแอปวิเคราะห์ข้อมูลในอุปกรณ์ Android หลายเครื่องได้

ความปลอดภัย

ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้ 

เรามีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการดาวน์โหลดแอป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความไว้วางใจให้แก่ผู้ใช้แอปด้วย แอปทั้งหมดที่เผยแพร่ผ่าน Google Play ซึ่งรวมถึงแอปของ Google เองนั้นอยู่ภายใต้นโยบายของ Play นโยบาย Play ของ Google ครอบคลุมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและการจัดการข้อมูลผู้ใช้ เราเผยแพร่ข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจว่ามีการรวบรวมข้อมูลใดบ้าง เหตุใดจึงมีการรวบรวม และวิธีที่ผู้ใช้สามารถอัปเดต จัดการ ส่งออก หรือลบข้อมูลของตนเอง
 

การสแกนแอปเพื่อป้องกันการติดตั้งมัลแวร์

Google Play Protect จะสแกนอุปกรณ์ Android เพื่อเตือนผู้ใช้ในกรณีที่แอปมีมัลแวร์ที่รู้จัก ไม่ว่าผู้ใช้จะดาวน์โหลดผ่าน Play, App Store ของบุคคลที่สาม หรือแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักก็ตาม

นอกจากนี้ เรายังมอบ API ให้แก่นักพัฒนาแอปเพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าเซิร์ฟเวอร์ของตนโต้ตอบกับแอปเวอร์ชันจริงของนักพัฒนาแอปบนอุปกรณ์ Android ของแท้ ซึ่งจะช่วยปกป้องนักพัฒนาแอปจากการฉ้อโกงและภัยคุกคามด้านความปลอดภัยผ่าน SafetyNet
 

การเผยแพร่แอป 

การเผยแพร่ทั่วโลก 

Google Play ช่วยให้นักพัฒนาแอปสามารถเผยแพร่แอปและการอัปเดตแอปให้แก่ผู้ใช้กว่า 3 พันล้านคนในอุปกรณ์หลายพันรุ่นจาก OEM หลายร้อยรายในกว่า 190 ประเทศ อีกทั้งยังสามารถเผยแพร่แอปไปยังบางประเทศได้ด้วย ตัวอย่างเช่น นักพัฒนาแอปสามารถสร้างหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่กำหนดเองใน Store ได้สูงสุด 50 หน้าเพื่อปรับแต่งหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลแอปตามประเทศที่ต้องการ รวมถึงยังสามารถปรับเปลี่ยนแอปในแบบของตัวเองด้วยการปรับแต่งข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store และกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะโดยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแอป

ยิ่งไปกว่านั้น นักพัฒนาแอปสามารถเผยแพร่การอัปเดตในแอปได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพด้วยฟีเจอร์และฟังก์ชันการทำงานใหม่ๆ การอัปเดตแอปช่วยนักพัฒนาแอปในการทำให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมอยู่เสมอ และรองรับความปลอดภัยของระบบนิเวศเมื่อมีภัยคุกคามใหม่ๆ เกิดขึ้น
 

การดาวน์โหลดแอปตามประเทศ

นักพัฒนาแอปสามารถดูข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศที่มียอดการติดตั้งแอปสูงสุดและข้อมูลเชิงลึกเรื่องการดาวน์โหลดเฉพาะภาษา รวมถึงยังอ่านรายงานเกี่ยวกับการติดตั้งแอป การถอนการติดตั้ง การให้คะแนน รายได้ และข้อขัดข้องต่างๆ เพื่อช่วยติดตามประสิทธิภาพของแอปได้ใน Play Console 

นักพัฒนาแอปใช้เครื่องมือค้นคว้าแบบอินเทอร์แอกทีฟของ Google ("Think with Google") เพื่อดูข้อมูลต่อไปนี้ได้

  • คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค
  • เคล็ดลับด้านการตลาด
  • เครื่องมือสำหรับนักพัฒนาแอปเพื่อเพิ่มกลุ่มเป้าหมายของแอปโดยการทำความเข้าใจข้อมูลประชากรของผู้ใช้แอป และ
  • สถิติของนักพัฒนาแอปในด้านความสนใจของผู้ใช้ในภูมิภาคหรือประเทศหนึ่งๆ รวมถึงสถิติอื่นๆ
 

บริการแปลภาษาเพื่อช่วยแปลแอปต่างประเทศ

แอปแปลภาษาได้สูงสุด 48 ภาษาผ่านบริการแปลภาษาของ Google และเรายังมีคำแนะนำให้ด้วยว่านักพัฒนาควรให้ความสำคัญเรื่องคำแปลสำหรับส่วนใดในแอป เราได้สร้างหน้าเว็บที่มีเคล็ดลับสู่ความสำเร็จในบางภูมิภาค (เอเชียแปซิฟิก, EMEA, ลาตินอเมริกา และอเมริกาเหนือ) บทความนี้จะอธิบายวิธีแปลแอป โดยเผยแพร่เป็นภาษาท้องถิ่นภาษาใดภาษาหนึ่งและนำเสนอโปรโมชันในช่วงวันหยุด
 

คะแนนและรีวิวของแอป

เรามีเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาแอปที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแอป โดยใช้การให้คะแนนและรีวิวจากผู้ใช้ เช่น เราจะแสดงภาพรวมคะแนนของแอป รีวิวแต่ละรายการจากผู้ใช้ และข้อมูลที่จัดเป็นหัวข้อเกี่ยวกับรีวิวของแอปให้แก่นักพัฒนาแอป  นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำที่ช่วยให้นักพัฒนาแอปตั้งค่าข้อความอัตโนมัติสำหรับแจ้งผู้ใช้ให้เขียนรีวิวและให้คะแนนภายในแอปเพื่อแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเครื่องมือที่จะช่วยนักพัฒนาแอปทดสอบฟีเจอร์นี้

 

การวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของผู้ใช้

ในเดือนมีนาคม 2021 Google Play Console ได้เปิดตัวเมตริกใหม่ในการประเมินแอปและเกม ซึ่งทำให้นักพัฒนาแอปสามารถประเมินแนวโน้มการมีส่วนร่วมและการสร้างรายได้ของแอปหรือเกมเทียบกับเกณฑ์ได้ เมตริกเหล่านี้มีสถิติเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้ที่เปิดแอปในแต่ละเดือน และสถิติเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน เมตริกเหล่านี้เป็นสถิติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลและรายงานอื่นๆ ที่นักพัฒนาแอปมีสิทธิ์เข้าถึงใน Google Play Console
 

การค้นพบแอป 

เรามีเคล็ดลับในการทำให้ผู้ใช้ค้นพบแอปบน Google Play รวมถึงวิธีสร้างข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store, วิธีสร้างแอปให้โดดเด่นผ่านภาพกราฟิก และวิธีเข้าถึงผู้ชมที่หลากหลาย นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีทำให้ผู้ใช้ค้นพบแอปได้มากขึ้นและวิธีการจัดอันดับแอปในผลการค้นหา

เราช่วยเรื่องการค้นพบแอปเพิ่มเติมผ่านการกำหนดเป้าหมายการโปรโมตแอป รวมถึงช่วยให้ผู้ใช้ค้นพบแอปและเกมที่อาจชื่นชอบจากแอปและเกมหลายล้านรายการบน Google Play เราพิจารณาปัจจัยหลายประการเมื่อจัดระเบียบและจัดอันดับแอปและเกม เช่น ความเกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ประสบการณ์ของผู้ใช้ และคุณค่าที่กำหนดโดยบรรณาธิการ

นอกจากนี้ ยังช่วยผู้ใช้ด้วยการแนะนำแอปที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าสู่ Google Play ซึ่งทำให้นักพัฒนาแอปเข้าถึงผู้ใช้ใหม่ๆ ได้
 

Play Commerce

เครื่องมือการสร้างรายได้

ระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play ช่วยให้นักพัฒนาแอปขายผลิตภัณฑ์และเนื้อหาดิจิทัลภายในแอปของตนได้อย่างราบรื่น ซึ่งรวมถึงเนื้อหาในแอป เช่น สกุลเงินในเกมหรือการสมัครใช้บริการ 
 

ข้อมูลราคาที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ

เรามีเครื่องมือที่จะช่วยให้นักพัฒนาแอปกำหนดราคาแอปของตนเองได้ ทำให้นักพัฒนาแอปกำหนดราคาแอปสำหรับทั่วโลกหรือเฉพาะประเทศได้ง่ายๆ และใช้เทมเพลตการกำหนดราคาเพื่อลดความยุ่งยากในการกำหนดราคาแอปใน Play Console

ตัวอย่างเช่น นักพัฒนาแอปกำหนดราคาแอป เปลี่ยนราคาแอป และสร้างการลดราคาหรือโปรโมชันสำหรับแอปได้ รวมถึงยังตั้งค่าการสมัครใช้บริการและเปลี่ยนแปลงราคาไอเทมที่ซื้อในแอปได้ด้วย ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาแอปมีความยืดหยุ่นในการปรับข้อเสนอและปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้

 

การจัดการการสมัครใช้บริการ Play

เราอนุญาตให้ผู้ใช้ยกเลิก หยุดชั่วคราว หรือเปลี่ยนการสมัครใช้บริการใน Google Play ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่รวมอยู่ในระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play
 

การรองรับการชำระเงินคืนของ Google 

นักพัฒนาแอปจัดการคำสั่งซื้อของแอปและดำเนินการคืนเงินให้ผู้ใช้อย่างรวดเร็วได้โดยง่าย รวมถึงสามารถดูคำสั่งซื้อของแอป พร้อมทั้งคืนเงิน และจัดการการยกเลิกการสมัครใช้บริการสำหรับรายการที่ผู้ใช้ซื้อไว้ได้ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอป Play Console
 

การดูแลระบบ 

ภาพรวมการอัปเดตแอป

นักพัฒนาแอปดูข้อมูลตามเวอร์ชันแอปได้ผ่านช่องทางการเผยแพร่ใน Google Play Console รวมถึงดูภาพรวมของประวัติการอัปเดตแอปได้ด้วย โดยจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อปรับปรุงข้อเสนอของแอปได้อย่างต่อเนื่อง
 

หน้าแดชบอร์ดที่กำหนดเองใน Play Console

เราใช้ความคิดเห็นของนักพัฒนาแอปในการสร้างวิธีที่ช่วยให้นักพัฒนาแอปปรับแต่งการแสดงผลของเมตริกที่มีใน Play Console เพื่อวัดประสิทธิภาพของแอป โดยนักพัฒนาแอปสามารถปักหมุดเมตริกที่ตนต้องการได้ วิธีนี้เป็นกลไกที่รวดเร็วและสะดวกสำหรับนักพัฒนาแอปในการติดตามและโต้ตอบกับเมตริกที่ตนสนใจ
 

อินเทอร์เฟซที่สอดคล้องกันทั่วโลกสำหรับนักพัฒนาแอป

Google Play Console มีอินเทอร์เฟซที่สอดคล้องกันทั่วโลกสำหรับนักพัฒนาแอปในการอัปโหลดและจัดการแอป นักพัฒนาแอปจะได้รับประโยชน์จากฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของแอป ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในแอป สร้างรายได้ และอื่นๆ
 

เครื่องมือเปรียบเทียบกลุ่มแอปเทียบเท่า

นักพัฒนาแอปสามารถเปรียบเทียบแอปของตนเองกับแอปอื่นๆ ที่เลือกได้อย่างง่ายดาย โดยการตั้งค่ากลุ่มแอปเทียบเท่าที่กำหนดเอง นั่นคือ ให้เลือกกลุ่มแอปที่เจาะจงและเปรียบเทียบแอปของตนกับแอปของกลุ่มนั้น นักพัฒนาแอปแก้ไขกลุ่มแอปเทียบเท่าที่กำหนดเองเพื่อเปรียบเทียบ Android Vitals ได้สูงสุด 3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งช่วยให้มีเครื่องมือที่เป็นประโยชน์เพื่อปรับเปลี่ยนตามแอปเทียบเท่า

นอกจากนี้ เรายังมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีใช้สถิติการเปรียบเทียบแอปเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแอป

นักพัฒนาแอปทุกรายต้องเสียค่าบริการไหม

เรามุ่งมั่นที่จะใช้โมเดลธุรกิจที่เปิดโอกาสให้เราลงทุนใน Android และ Play ต่อไปได้ แต่ก็เข้าใจดีว่านักพัฒนาแอปแต่ละรายไม่เหมือนกันและไม่สามารถใช้เกณฑ์ที่ตายตัวเพียงเกณฑ์เดียวกับทุกคนได้ โมเดลธุรกิจที่เราใช้กับรายได้ส่วนใหญ่ของ Google Play คือค่าบริการ  เฉพาะนักพัฒนาแอปที่ขายแอปที่ต้องซื้อหรือการเข้าถึงเนื้อหาหรือบริการดิจิทัลในแอปเท่านั้นที่ต้องเสียค่าบริการ และนักพัฒนาแอปมากกว่า 99% ที่ต้องเสียค่าบริการสามารถรับสิทธิ์จ่ายค่าบริการระดับ 15% หรือน้อยกว่านั้น นักพัฒนาส่วนน้อยที่ลงทุนใน Android และ Play โดยตรงอาจมีค่าบริการอีกอัตราหนึ่งในฐานะส่วนหนึ่งของการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการลงทุนด้านการเงินในระยะยาวและการผสานรวมผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของอุปกรณ์ต่างๆ พาร์ทเนอร์ด้านการลงทุนที่สำคัญเหล่านี้ช่วยให้เรานำผู้ใช้มาสู่ Android และ Play ได้มากขึ้นผ่านการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานสำหรับผู้ใช้ทุกคนอย่างต่อเนื่อง และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่นักพัฒนาแอปทุกราย

นอกจากนี้ มีบางกรณีที่เราจะไม่เรียกเก็บค่าบริการสำหรับธุรกรรมในแอปหรือไม่กำหนดให้ใช้ระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play ตัวอย่างเช่น การขายสินค้าหรือบริการจริง การดำเนินการระหว่างบุคคล การบริจาคที่ได้รับการยกเว้นภาษี หรือธุรกรรมการพนัน

การออกกฎหมายล่าสุดของเกาหลีใต้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ผลจากการออกกฎหมายล่าสุดนี้ เราให้นักพัฒนาแอปทุกรายสามารถเสนอระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่นควบคู่ไปกับระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play สำหรับผู้ใช้ในเกาหลีใต้ที่ทำการซื้อในแอปมือถือและแท็บเล็ตซึ่งเผยแพร่ผ่าน Play

นักพัฒนาแอปยังคงต้องจ่ายค่าบริการสำหรับธุรกรรมที่ใช้ระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่น แต่ค่าบริการจะลดลง 4% ตัวอย่างเช่น หากค่าบริการเป็น 15% สำหรับธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play ค่าบริการนี้จะเป็น 11% สำหรับธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่น ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสนอระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่นให้ผู้ใช้ในเกาหลีใต้ได้ที่บทความนี้ในศูนย์ช่วยเหลือ

คำสั่งจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งอินเดียส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ผลจากคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแห่งอินเดียนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เราจะให้นักพัฒนาแอปทุกรายสามารถเสนอระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่นควบคู่ไปกับระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play สำหรับผู้ใช้ชาวอินเดียที่ทำการซื้อในแอปมือถือและแท็บเล็ตซึ่งเผยแพร่ผ่าน Play

นักพัฒนาแอปจะยังคงต้องจ่ายค่าบริการสำหรับธุรกรรมที่ใช้ระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่น แต่ค่าบริการจะลดลง 4% ตัวอย่างเช่น หากค่าบริการเป็น 15% สำหรับธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านระบบการเรียกเก็บเงินของ Google Play ค่าบริการนี้จะเป็น 11% สำหรับธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านระบบการเรียกเก็บเงินระบบอื่น เราจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลนี้มีประโยชน์ไหม

เราจะปรับปรุงได้อย่างไร

หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

true
ค้นหา
ล้างการค้นหา
ปิดการค้นหา
เมนูหลัก
2502782232564634169
true
ค้นหาศูนย์ช่วยเหลือ
true
true
true
true
true
92637
false
false