คู่มือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา (SEO) สำหรับมือใหม่

ตอนที่สร้างเว็บไซต์ คุณคงจะสร้างเว็บไซต์โดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก รวมถึงพยายามทำให้ผู้ใช้ค้นพบและสำรวจเนื้อหาของคุณได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือค้นหา ซึ่งช่วยให้ผู้คนค้นพบเนื้อหาของคุณ SEO ย่อมาจากการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือค้นหา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการช่วยให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจเนื้อหาของคุณ และช่วยผู้ใช้ให้ค้นพบเว็บไซต์ของคุณและตัดสินใจว่าควรเข้าชมเว็บไซต์ผ่านเครื่องมือค้นหาหนึ่งๆ หรือไม่

Search Essentials จะระบุองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสิ่งที่ทำให้เว็บไซต์มีสิทธิ์ปรากฏใน Google Search แม้ว่าจะไม่มีการรับประกันว่าจะมีการเพิ่มเว็บไซต์หนึ่งๆ ลงในดัชนีของ Google แต่เว็บไซต์ที่เป็นไปตาม Search Essentials มีแนวโน้มที่จะแสดงในผลการค้นหาของ Google มากกว่า SEO กำลังจะก้าวสู่ขั้นถัดไปและกำลังปรับปรุงการแสดงข้อมูลของเว็บไซต์ใน Search คู่มือนี้จะอธิบายเกี่ยวกับการปรับปรุงที่มีประสิทธิภาพและพบบ่อยที่สุดที่คุณสามารถทำได้ในเว็บไซต์

ไม่มีเคล็ดลับใดที่จะจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณให้ติดอันดับหนึ่งใน Google ได้โดยอัตโนมัติ (ต้องขอโทษด้วย) ที่จริ'คำแนะนำบางอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ แต่การทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำอาจช่วยให้เครื่องมือค้นหา (ไม่ใช่แค่ Google) ทำการ Crawl, จัดทำดัชนี และเข้าใจเนื้อหาของคุณได้ง่ายขึ้น

วิธีการทำงานของ Google Search

Google เป็นเครื่องมือค้นหาที่ทำงานอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Crawler ในการสำรวจเว็บอย่างสม่ำเสมอในการมองหาหน้าเว็บเพื่อเพิ่มลงในดัชนีของเรา ปกติแล้วคุณไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ แค่ทำการเผยแพร่เว็บไซต์ในเว็บเท่านั้น อันที่จริง เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่แสดงในผลการค้นหาของเราจะได้รับการค้นพบและเพิ่มในผลการค้นหาโดยอัตโนมัติเมื่อเราทำการ Crawl เว็บ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เรามีเอกสารประกอบเกี่ยวกับวิธีที่ Google ค้นพบ, ทำการ Crawl และแสดงหน้าเว็บ

นานเท่าใดกว่าฉันจะเห็นผลลัพธ์ในผลการค้นหา

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่คุณทำจะต้องใช้เวลาสักพักจึงจะแสดงให้เห็นในฝั่ง Google การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจมีผลใน 2-3 ชั่วโมง แต่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อาจใช้เวลาหลายเดือน โดยทั่วไปแล้ว คุณอาจต้องรอ 2-3 สัปดาห์เพื่อดูว่างานของคุณได้รับผลที่เป็นคุณในผลการค้นหาของ Google Search ไหม โปรดทราบว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่คุณทำกับเว็บไซต์จะไม่ส่งผลให้เกิดผลที่ชัดเจนในผลการค้นหา หากคุณไม่พอใจกับผลลัพธ์และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางไว้ ให้ลองทำซ้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และดูว่าจะส่งผลใดๆ หรือไม่

ช่วยให้ Google ค้นพบเนื้อหาของคุณ

ก่อนจะดำเนินการใดๆ ที่กล่าวถึงในส่วนนี้ ให้ตรวจสอบว่า Google พบเนื้อหาของคุณแล้วหรือยัง (บางทีคุณอาจไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้) ลองค้นหาเว็บไซต์ใน Google ด้วย site: search operator หากคุณเห็นผลการค้นหาที่ชี้ไปยังเว็บไซต์ของคุณ แสดงว่าคุณอยู่ในดัชนีแล้ว เช่น การค้นหา site:wikipedia.org จะแสดงผลการค้นหาเหล่านี้ หากไม่เห็นเว็บไซต์ของตัวเอง โปรดอ่านข้อกำหนดทางเทคนิคเพื่อตรวจสอบว่าในทางเทคนิคแล้วไม่มีส่วนที่ป้องกันไม่ให้เว็บไซต์แสดงใน Google Search แล้วกลับมาที่นี่

Google จะค้นหาหน้าเว็บผ่านลิงก์จากหน้าอื่นๆ ที่ได้ทำการ Crawl ไว้แล้วเป็นหลัก ในหลายกรณี เว็บไซต์เหล่านี้จะเป็นเว็บไซต์อื่นๆ ที่ลิงก์อยู่กับหน้าเว็บของคุณ เว็บไซต์อื่นๆ ที่ลิงก์มายังเว็บไซต์ของคุณนั้นจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป และคุณยังกระตุ้นให้ผู้ใช้ค้นพบเนื้อหาของคุณโดยการโปรโมตเว็บไซต์ได้ด้วย

หากพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายทางเทคนิคสักเล็กน้อย คุณอาจส่ง Sitemap ซึ่งเป็นไฟล์ที่มี URL ทั้งหมดในเว็บไซต์ที่คุณให้ความสำคัญ ระบบการจัดการเนื้อหา (CMS) บางระบบอาจดำเนินการนี้ให้คุณโดยอัตโนมัติ แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อกำหนด และคุณควรให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับเว็บไซต์ของคุณก่อน

ตรวจสอบว่า Google เห็นหน้าเว็บของคุณแบบเดียวกับที่ผู้ใช้เห็นหรือไม่

เมื่อ Google ทำการ Crawl หน้าเว็บ Google ควรเห็นหน้านั้นเหมือนกับที่ผู้ใช้ทั่วไปเห็น ด้วยเหตุนี้ Google จึงต้องเข้าถึงทรัพยากรเดียวกันกับเบราว์เซอร์ของผู้ใช้ได้ หากเว็บไซต์ซ่อนคอมโพเนนต์สำคัญที่ประกอบกันเป็นเว็บไซต์ (เช่น CSS และ JavaScript) Google อาจไม่เข้าใจ ซึ่งหมายความว่าหน้าเว็บอาจไม่แสดงในผลการค้นหาหรือไม่อยู่ในอันดับที่ดีสําหรับคําที่คุณกําหนดเป้าหมาย

หากหน้าเว็บมีข้อมูลที่แตกต่างกันตามสถานที่ตั้งทางกายภาพของผู้ใช้ ให้ตรวจสอบว่าคุณพอใจกับข้อมูลที่ Google เห็นจากตำแหน่งของ Crawler ซึ่งโดยทั่วไปคือสหรัฐอเมริกา

หากต้องการตรวจสอบว่า Google เห็นหน้าเว็บของคุณอย่างไร ให้ใช้เครื่องมือตรวจสอบ URL ใน Search Console

หากไม่ต้องการให้หน้าเว็บแสดงในผลการค้นหาของ Google

การเลือกไม่ให้เว็บไซต์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเว็บไซต์ปรากฏในผลการค้นหาอาจเป็นสิ่งสำคัญ เช่น คุณอาจไม่ต้องการให้โพสต์เกี่ยวกับผมทรงใหม่เด๋อๆ ที่คุณเพิ่งไปตัดมาแสดงในผลการค้นหา Google รองรับวิธีต่างๆ ที่ให้คุณเลือกไม่ขอรับการ Crawl และการจัดทำดัชนี URL ได้ หากต้องการบล็อกบางไฟล์ ไดเรกทอรี หรือแม้แต่ทั้งเว็บไซต์ไม่ให้แสดงใน Google Search โปรดดูคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกันไม่ให้เนื้อหาปรากฏในผลการค้นหา

จัดระเบียบเว็บไซต์ของคุณ

เมื่อตั้งค่าหรือทำซ้ำเว็บไซต์ คุณควรจัดระเบียบเว็บไซต์อย่างสมเหตุสมผล เพราะจะช่วยให้เครื่องมือค้นหาและผู้ใช้เข้าใจว่าหน้าเว็บเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ ในเว็บไซต์อย่างไร อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งทิ้งทุกอย่างแล้วเริ่มจัดระเบียบเว็บไซต์ใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ แม้ว่าคำแนะนำเหล่านี้จะมีประโยชน์ในระยะยาว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังทำงานในเว็บไซต์ขนาดใหญ่) แต่เครื่องมือค้นหาก็น่าจะเข้าใจ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าเว็บไซต์ของคุณจะจัดระเบียบอย่างไร

ใช้ URL ที่สื่อความหมาย

บางส่วนของ URL อาจแสดงในผลการค้นหาเป็นเบรดครัมบ์เพื่อให้ผู้ใช้ใช้ URL ดังกล่าวในการทำความเข้าใจว่าผลการค้นหาจะมีประโยชน์ต่อตนเองได้ด้วยหรือไม่

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาข้อความใน Google Search ที่มีข้อความไฮไลต์ซึ่งติดป้ายกํากับเจาะจงองค์ประกอบที่มองเห็นของ URL ซึ่งรวมถึงโดเมนและเบรดครัมบ์

โดเมน

เบรดครัมบ์

Google จะเรียนรู้เบรดครัมบ์โดยอัตโนมัติตามคำใน URL แต่คุณสามารถสร้างอิทธิพลต่อคำเหล่านั้นด้วย Structured Data ได้ด้วย หากชอบความท้าทายทางเทคนิค พยายามใส่คำใน URL ที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ เช่น

https://www.example.com/pets/cats.html

URL ที่มีเฉพาะตัวระบุแบบสุ่มมีประโยชน์น้อยกว่าสำหรับผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น

https://www.example.com/2/6772756D707920636174

จัดกลุ่มหน้าที่คล้ายกันในไดเรกทอรี

ภาพประกอบแสดงวิธีจัดกลุ่มหน้าเว็บในไดเรกทอรี

หากคุณมี URL หลายพันรายการในเว็บไซต์ วิธีที่คุณจัดระเบียบเนื้อหาอาจมีผลต่อวิธีที่ Google ทำการ Crawl และจัดทำดัชนีเว็บไซต กล่าวอย่างเจาะจงคือ การใช้ไดเรกทอรี (หรือโฟลเดอร์) เพื่อจัดกลุ่มหัวข้อที่คล้ายกันจะช่วยให้ Google ดูความถี่ที่ URL ในแต่ละไดเรกทอรีมีการเปลี่ยนแปลงได้

ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณา URL ต่อไปนี้

https://www.example.com/policies/return-policy.html

https://www.example.com/promotions/new-promos.html

เนื้อหาในไดเรกทอรี policies มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แต่เนื้อหาในไดเรกทอรี promotions มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ Google จะดูข้อมูลนี้และทำการ Crawl ไดเรกทอรีต่างๆ ด้วยความถี่ที่ต่างกันได้ หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างเว็บไซต์ที่ค้นหาได้ง่าย โปรดอ่านคำแนะนำสำหรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ซึ่งโครงสร้าง URL ที่ดีมีความสำคัญกว่ามากเพราะมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

ลดเนื้อหาที่ซ้ำกัน

บางเว็บไซต์แสดงเนื้อหาเดียวกันภายใต้ URL ที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่าเนื้อหาที่ซ้ำกัน เครื่องมือค้นหาจะเลือก URL เดียว (Canonical URL) เพื่อแสดงต่อผู้ใช้ต่อเนื้อหาชิ้นหนึ่ง

การมีเนื้อหาที่ซ้ำกันในเว็บไซต์ไม่ถือเป็นการละเมิดนโยบายสแปม แต่อาจทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี และเครื่องมือค้นหาอาจสูญเสียทรัพยากรในการ Crawl จาก URL ที่คุณไม่สนใจเลย หากอยากลองอะไรใหม่ๆ คุณควรตรวจสอบว่าได้ระบุเวอร์ชัน Canonical สำหรับหน้าเว็บหรือไม่ แต่ถ้าคุณไม่ได้กำหนดหน้า Canonical URL ไว้เอง Google จะพยายามทำให้โดยอัตโนมัติ

เมื่อกำหนดหน้า Canonical ให้พยายามตรวจสอบว่าเนื้อหาแต่ละส่วนในเว็บไซต์เข้าถึงได้ผ่าน URL เดียวเท่านั้น การมีหน้าเว็บ 2 หน้าที่มีข้อมูลของโปรโมชันเหมือนกันอาจทำให้ผู้ใช้สับสนได้ (เช่น ผู้ใช้อาจสงสัยว่าหน้าใดถูกต้อง และหน้าใดหน้าหนึ่งแตกต่างกันหรือไม่)

หากคุณมีหน้าเว็บหลายหน้าที่มีข้อมูลเหมือนกัน ให้ลองตั้งค่าการเปลี่ยนเส้นทางจาก URL ที่ไม่ต้องการไปยัง URL ที่แสดงข้อมูลนั้นได้ดีที่สุด หากเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ ให้ใช้องค์ประกอบ rel="canonical" link แทน ขอย้ำว่าอย่ากังวลกับเรื่องนี้มากจนเกินไป โดยทั่วไปแล้วเครื่องมือค้นหามักหาคำตอบให้คุณได้

ทำให้เว็บไซต์น่าสนใจและมีประโยชน์

การสร้างเนื้อหาที่ผู้คนเห็นว่าน่าสนใจและมีประโยชน์มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการแสดงข้อมูลของเว็บไซต์ในผลการค้นหามากกว่าคำแนะนำอื่นๆ ในคู่มือนี้ แม้ว่า "เนื้อหาที่น่าสนใจและมีประโยชน์" อาจมีความหมายแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน แต่เนื้อหาลักษณะนี้มักมีคุณลักษณะทั่วไปบางอย่างเหมือนๆ กัน เช่น

  • ข้อความอ่านง่ายและเป็นระเบียบ: เขียนเนื้อหาได้อย่างเป็นธรรมชาติและต้องเขียนเนื้อหาให้ออกมาดี อ่านง่าย และไม่มีข้อผิดพลาดด้านการสะกดและไวยากรณ์ แบ่งเนื้อหาขนาดยาวออกเป็นย่อหน้าและส่วนต่างๆ และมีส่วนหัวข้อเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไปยังส่วนต่างๆ ของหน้าเว็บได้
  • เนื้อหามีเอกลักษณ์: เมื่อคุณเขียนเนื้อหาใหม่ อย่าคัดลอกเนื้อหาของผู้อื่นมาบางส่วนหรือทั้งหมด แต่ให้สร้างเนื้อหาโดยอิงจากสิ่งที่คุณรู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ อย่าเพียงแค่ดัดแปลงสิ่งที่ผู้อื่นเผยแพร่ไปแล้ว
  • เนื้อหาเป็นปัจจุบัน: ตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้และอัปเดตเนื้อหาตามความจำเป็น หรือแม้กระทั่งลบเนื้อหาออกหากไม่เกี่ยวข้องแล้ว
  • เนื้อหามีประโยชน์ น่าเชื่อถือ และคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก: ต้องเขียนเนื้อหาที่ผู้อ่านจะพบว่าเป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ เช่น การระบุแหล่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์จะช่วยให้ผู้คนทราบถึงความเชี่ยวชาญของคุณซึ่งเกี่ยวกับบทความที่คุณเขียน

คาดหวังคำค้นหาของผู้อ่าน

ลองนึกถึงคำต่างๆ ที่ผู้ใช้อาจใช้ค้นหาเนื้อหาของคุณ ผู้ใช้ที่มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งๆ อาจใช้คีย์เวิร์ดในคำค้นหาที่ต่างจากคนอื่นๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับหัวข้อดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้บางคนอาจค้นหาคำว่า "ชาร์กูว์ทรี" ในขณะที่คนอื่นๆ อาจค้นหาคำว่า "ชีสบอร์ด" การคาดการณ์ถึงความแตกต่างเหล่านี้ในพฤติกรรมการค้นหาและการเขียนโดยคำนึงถึงผู้อ่านอาจส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของเว็บไซต์ในผลการค้นหา

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลหากคุณไม่ได้คาดหวังวิธีที่ผู้คนอาจค้นหาเนื้อหาของคุณทุกรูปแบบ ระบบจับคู่ภาษาของ Google มีความซับซ้อนและเข้าใจได้ว่าหน้าเว็บของคุณเกี่ยวข้องกับคำค้นหาจำนวนมากอย่างไร แม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้คำที่ตรงกับคำค้นหาเหล่านั้นอย่างชัดแจ้งก็ตาม

หลีกเลี่ยงโฆษณาที่รบกวนผู้ใช้

แม้ว่าโฆษณาจะเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตและมีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้ได้เห็น แต่อย่าให้โฆษณารบกวนจนเกินไปหรือทำให้ผู้ใช้อ่านเนื้อหาไม่ได้ เช่น โฆษณาหรือหน้าเว็บคั่นระหว่างหน้า (หน้าที่แสดงก่อนหรือหลังเนื้อหาที่คุณคาดหวัง) ที่ทำให้ใช้งานเว็บไซต์ได้ยาก

ลิงก์เป็นวิธีที่ดีในการเชื่อมต่อผู้ใช้และเครื่องมือค้นหาไปยังส่วนอื่นๆ ของเว็บไซต์ หรือหน้าที่เกี่ยวข้องในเว็บไซต์อื่นๆ อันที่จริงหน้าเว็บใหม่ๆ ส่วนใหญ่ที่ Google พบในทุกๆ วันมาจากลิงก์ ซึ่งทำให้ลิงก์เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่คุณต้องพิจารณาเพื่อช่วยให้ Google ค้นพบหน้าเว็บและอาจแสดงในผลการค้นหา นอกจากนี้ ลิงก์ยังเพิ่มคุณค่าด้วยการเชื่อมโยงผู้ใช้ (และ Google) กับแหล่งข้อมูลอื่นเพื่อยืนยันสิ่งที่คุณเขียนถึง

ภาพประกอบแสดงวิธีที่หน้าเว็บหนึ่งลิงก์ไปยังแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อความลิงก์ (หรือที่เรียกว่า Anchor Text) คือส่วนข้อความของลิงก์ที่คุณเห็น ข้อความนี้บอกผู้ใช้และ Google เกี่ยวกับหน้าเว็บที่คุณกำลังลิงก์ไป เมื่อใช้ Anchor Text ที่เหมาะสม ผู้ใช้และเครื่องมือค้นหาจะเข้าใจได้โดยง่ายว่าหน้าเว็บที่ลิงก์ไว้มีข้อมูลใดบ้างก่อนที่จะเข้าชม ภาพประกอบที่แสดงส่วนข้อความของลิงก์

ลิงก์จะให้บริบทเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งๆ ทั้งสำหรับผู้ใช้และเครื่องมือค้นหา ซึ่งจะช่วยแสดงความรู้ของคุณเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณลิงก์ไปยังหน้าเว็บที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น เนื้อหาในเว็บไซต์อื่นๆ ให้ตรวจสอบว่าคุณเชื่อถือแหล่งข้อมูลที่จะลิงก์ไป หากคุณเชื่อถือเนื้อหานั้นไม่ได้และยังคงต้องการลิงก์ไปยังเนื้อหานั้น ให้เพิ่ม nofollow หรือคำอธิบายประกอบที่คล้ายกันลงในลิงก์ดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องมือค้นหาที่เชื่อมโยงเว็บไซต์ของคุณกับเว็บไซต์ที่คุณลิงก์ไป ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับการจัดอันดับของคุณใน Google Search

หากคุณยอมรับเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นในเว็บไซต์ เช่น โพสต์ในฟอรัมหรือความคิดเห็น ให้ตรวจสอบว่าทุกลิงก์ที่โพสต์โดยผู้ใช้มี nofollow หรือคำอธิบายประกอบที่คล้ายกันซึ่ง CMS เพิ่มเข้ามาโดยอัตโนมัติ เนื่องจากในกรณีนี้คุณไม่ได้เป็นผู้สร้างเนื้อหา ก็อาจไม่ต้องการให้เว็บไซต์ไปเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ที่ลิงก์ผู้ใช้ลิงก์ไปโดยไม่ได้ตรวจสอบอะไร วิธีนี้ยังช่วยขัดขวางไม่ให้นักส่งสแปมละเมิดเว็บไซต์ของคุณด้วย

กำหนดรูปลักษณ์ของเว็บไซต์ใน Google Search

หน้าผลการค้นหาของ Google Search โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบภาพต่างๆ 2-3 รายการที่คุณสามารถกำหนดได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจว่าจะเข้าชมเว็บไซต์ผ่านผลการค้นหาเหล่านั้นหรือไม่ ในส่วนนี้ เราจะเน้นที่ลิงก์ Title และตัวอย่างข้อมูลเนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญมากกว่า

กำหนดลิงก์ Title ของคุณ

ลิงก์ Title คือส่วนบรรทัดแรกของผลการค้นหาซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าจะคลิกผลการค้นหาใด Google ใช้แหล่งที่มา 2-3 รายการในการสร้างลิงก์ Title นี้ ซึ่งรวมถึงคำในองค์ประกอบ <title> (หรือที่เรียกว่าข้อความชื่อ) และส่วนหัวอื่นๆ ในหน้าเว็บ ข้อความชื่อนี้ยังใช้สำหรับชื่อที่แสดงในเบราว์เซอร์และบุ๊กมาร์กได้ด้วย

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาข้อความใน Google Search ซึ่งมีกรอบไฮไลต์รอบส่วนที่เป็นลิงก์ Title

วิธีทำน้ำมันพริกด้วยตัวเอง

ภาพประกอบแสดงลักษณะของข้อความชื่อในหน้าเว็บ และหน้าตาของข้อความใน HTML

คุณสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีของลิงก์ Title ใน Search ได้โดยตั้งชื่อที่ดี ชื่อที่ดีจะไม่ซ้ำกันกับหน้าเว็บ มีความชัดเจนและกระชับ รวมถึงอธิบายเนื้อหาของหน้าได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ชื่อของคุณอาจมีชื่อเว็บไซต์หรือธุรกิจ ข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น สถานที่ตั้งจริงของธุรกิจ และอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่หน้าเว็บนั้นๆ ที่ต้องนำเสนอแก่ผู้ใช้ เอกสารประกอบเกี่ยวกับลิงก์ Title มีเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีสร้างชื่อที่ดี และวิธีทำให้ลิงก์ Title ของเว็บไซต์ให้ผลลัพธ์ที่ดี

ควบคุมข้อมูลโค้ดของคุณ

ใต้ลิงก์ Title ผลการค้นหามักจะมีคำอธิบายหน้าเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าควรคลิกผลการค้นหาหรือไม่ คำอธิบายนี้เรียกว่าตัวอย่างข้อมูล

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาข้อความใน Google Search พร้อมกรอบที่ไฮไลต์รอบตัวอย่างข้อมูล

ดูวิธีทำอาหารจานไข่ด้วยคำแนะนำฉบับเต็มนี้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที เราครอบคลุมวิธีทำทั้งหมด ทั้งไข่ดาว ไข่ต้ม และไข่ดาวน้ำ

ตัวอย่างข้อมูลมีที่มาจากเนื้อหาจริงของหน้าเว็บที่ผลการค้นหาลิงก์ไป ดังนั้นคุณจึงเป็นผู้ควบคุมการใช้ถ้อยคำในการสร้างตัวอย่างข้อมูลอย่างเต็มที่ ในบางครั้ง ตัวอย่างข้อมูลอาจมาจากเนื้อหาของแท็กคำอธิบายเมตา ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นข้อมูลสรุปสั้นๆ ของหน้าใน 1 หรือ 2 ประโยค คำอธิบายเมตาที่ดีควรสั้นกระชับ ไม่ซ้ำกับหน้าอื่นใด รวมถึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน้านั้นมากที่สุด ลองดูเคล็ดลับการเขียนคำอธิบายเมตาที่ดีเพื่อหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติม

เพิ่มรูปภาพในเว็บไซต์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรูปภาพเหล่านั้น

ผู้คนจำนวนมากค้นหาด้วยภาพ และรูปภาพอาจเป็นวิธีการที่ผู้คนพบเว็บไซต์ของคุณเป็นครั้งแรก เช่น หากคุณมีบล็อกสูตรอาหาร ผู้ใช้อาจพบเนื้อหาของคุณได้โดยการค้นหา "สูตรทาร์ตผลไม้" และเลือกดูรูปภาพของทาร์ตผลไม้ประเภทต่างๆ

เมื่อคุณเพิ่มรูปภาพลงในเว็บไซต์ อย่าลืมตรวจสอบว่าผู้คนและเครื่องมือค้นหาจะค้นพบและเข้าใจรูปภาพเหล่านั้นได้

เพิ่มรูปภาพคุณภาพสูงที่อยู่ใกล้กับข้อความที่เกี่ยวข้อง

การใช้รูปภาพคุณภาพสูงเป็นการให้บริบทและรายละเอียดที่เพียงพอแก่ผู้ใช้ในการตัดสินใจว่ารูปภาพใดตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้มองหามากที่สุด ตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้กำลังมองหา "ดอกเดซี่" และพบดอกเอเดลไวส์ในผลการค้นหา รูปภาพที่มีคุณภาพดีกว่าจะช่วยจำแนกชนิดของดอกไม้ได้

ใช้รูปภาพที่คมชัดและชัดเจน แล้ววางไว้ใกล้กับข้อความที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ ข้อความที่อยู่ใกล้กับรูปภาพจะช่วยให้ Google เข้าใจได้ดีขึ้นว่ารูปภาพเกี่ยวกับอะไรและมีความหมายอย่างไรในบริบทของหน้าเว็บ

ตัวอย่างเช่น หากหน้าเว็บกำลังรีวิวร้านไหมพรมในลอนดอน ก็ควรฝังรูปภาพร้านไหมพรมไว้ในส่วนที่มีรายละเอียดสถานที่ตั้ง คำอธิบาย และข้อมูลรีวิวของไหมพรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ Google และผู้ใช้เชื่อมโยงรูปภาพกับข้อความที่ให้บริบทเพิ่มเติมว่าหน้านั้นเกี่ยวกับอะไร

เพิ่มข้อความแสดงแทนที่สื่อความหมายลงในรูปภาพ

ข้อความแสดงแทนเป็นข้อความสั้นๆ แต่สื่อความหมายซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูปภาพและเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจว่ารูปภาพนั้นเกี่ยวกับอะไรและรู้บริบทว่ารูปภาพเกี่ยวข้องกับหน้าเว็บอย่างไร ดังนั้นการเขียนข้อความแสดงแทนที่ดีจึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก คุณเพิ่มข้อมูลนี้ลงใน HTML ได้ด้วยแอตทริบิวต์ alt ขององค์ประกอบ img หรือ CMS อาจมีวิธีง่ายๆ ในการระบุคำอธิบายสำหรับรูปภาพเมื่อคุณอัปโหลดรูปภาพไปยังเว็บไซต์ของคุณ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเขียนข้อความแสดงแทนที่ดี และวิธีเพิ่มข้อความลงในรูปภาพ

เพิ่มประสิทธิภาพวิดีโอของคุณ

หากเว็บไซต์มีหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอแต่ละรายการเป็นหลัก ผู้คนอาจค้นพบเว็บไซต์ของคุณผ่านผลการค้นหาวิดีโอใน Google Search ได้ด้วย แนวทางปฏิบัติแนะนำหลายๆ ข้อเกี่ยวกับรูปภาพและข้อความก็ใช้กับวิดีโอได้ด้วยเช่นกัน

  • สร้างเนื้อหาวิดีโอคุณภาพสูง และฝังวิดีโอไว้ในหน้าเดี่ยวๆ ใกล้กับข้อความที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอดังกล่าว
  • เขียนข้อความอธิบายในช่องชื่อและคำอธิบายของวิดีโอ (ชื่อของวิดีโอยังคงเป็นชื่อและเพื่อให้นำแนวทางปฏิบัติแนะนำไปใช้ในการตั้งชื่อที่นี่ได้ด้วย)

หากเว็บไซต์มุ่งเน้นที่วิดีโอเป็นพิเศษ ให้อ่านต่อไปเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวิดีโอสำหรับเครื่องมือค้นหา

โปรโมตเว็บไซต์

การโปรโมตเนื้อหาใหม่อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันและเครื่องมือค้นหาค้นพบได้เร็วขึ้น ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดีย
  • การมีส่วนร่วมของชุมชน
  • โฆษณาทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์
  • การบอกกันปากต่อปากและวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย

หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดคือการบอกกันปากต่อปาก กล่าวคือ ผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับเว็บไซต์ของคุณจะบอกให้เพื่อนรู้และมาเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลา และโดยปกติแล้วคุณจะต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามกับแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ก่อน เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนๆ ของเราที่ Google for Creators มีแหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการสร้างและมีส่วนร่วมกับผู้ชม

การทุ่มเทความพยายามในการโปรโมตบริษัทหรือเว็บไซต์แบบออฟไลน์อาจให้ผลคุ้มค่าได้ด้วย เช่น หากคุณมีเว็บไซต์ธุรกิจ ให้ตรวจสอบว่า URL ของเว็บไซต์ดังกล่าวแสดงอยู่ในนามบัตร หัวจดหมาย โปสเตอร์ และเอกสารอื่นๆ เมื่อได้รับสิทธิ์ คุณจะส่งจดหมายข่าวตามรอบให้กับผู้ชมเพื่อบอกให้ผู้ชมทราบเกี่ยวกับเนื้อหาใหม่ในเว็บไซต์ได้ด้วย

เช่นเดียวกับทุกอย่างในชีวิตคุณ คุณเลือกที่จะโปรโมตเว็บไซต์มากเกินไปและส่งผลเสียต่อเว็บไซต์ได้ เช่น ผู้ใช้อาจรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการโปรโมต และเครื่องมือค้นหาอาจมองว่าการกระทำบางอย่างเป็นการบิดเบือนผลการค้นหา

สิ่งที่เราเชื่อว่าคุณไม่ควรไปมุ่งเน้นมากนัก

เนื่องจาก SEO มีการพัฒนาไปอยู่ตลอดเวลา แนวคิดและหลักปฏิบัติ (และบางครั้งก็มีความเข้าใจผิด) เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ด้วยเช่นกัน สิ่งที่เคยถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติแนะนำหรือลำดับความสำคัญสูงสุดในอดีตอาจไม่เกี่ยวข้องหรือมีประสิทธิภาพอีกต่อไป เนื่องจากรูปแบบการพัฒนาของเครื่องมือค้นหา (และอินเทอร์เน็ต) เมื่อเวลาผ่านไป

เพื่อช่วยให้คุณมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่สำคัญจริงๆ เกี่ยวกับ SEO เราได้รวบรวมบางหัวข้อที่พบเห็นได้ทั่วไปและโดดเด่นที่สุดซึ่งพบเห็นได้ในวงกว้างบนอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปแล้ว ข้อความที่เราพูดถึงในหัวข้อเหล่านี้คือคุณควรทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของตนเอง เราจะอธิบายเกี่ยวกับประเด็นที่เฉพาะเจาะจง 2-3 ประเด็นต่อไปนี้

คีย์เวิร์ดของเมตา
Google Search ไม่ได้ใช้เมตาแท็กคีย์เวิร์ด
การใช้คีย์เวิร์ดในทางที่ผิด
การใช้คำเดียวกันซ้ำๆ มากเกินไป (แม้จะเป็นรูปแบบต่างกัน) ก็เป็นเรื่องน่าเหนื่อยใจสำหรับผู้ใช้ และการใช้คีย์เวิร์ดในทางที่ผิดถือเป็นการละเมิดนโยบายสแปมของ Google
คีย์เวิร์ดในชื่อโดเมนหรือเส้นทาง URL

ทำสิ่งที่เหมาะกับธุรกิจมากที่สุดเมื่อเลือกชื่อเว็บไซต์ ผู้ใช้จะใช้ชื่อนี้ในการค้นหาคุณ เราจึงขอแนะนำให้ทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำทั่วไปด้านการตลาด จากมุมมองการจัดอันดับ คีย์เวิร์ดในชื่อโดเมน (หรือเส้นทาง URL) เพียงอย่างเดียวแทบจะไม่ส่งผลอะไรเลยนอกจากการแสดงในเบรดครัมบ์

และขณะที่พูดถึงชื่อโดเมน: TLD (ชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วย ".com" หรือ ".guru") มีความสำคัญก็ต่อเมื่อคุณกำหนดเป้าหมายผู้ใช้ของประเทศหนึ่งๆ เท่านั้น และมักเป็นสัญญาณที่ให้ผลต่ำ เช่น หากกำลังขายชีสดัตช์ให้กับผู้ที่ค้นหาจากสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อโดเมน .ch ก็ดูสมเหตุสมผลดี (ทั้งในมุมมองของธุรกิจและ SEO) มิฉะนั้น Google Search จะไม่สน TLD ที่คุณใช้ (ไม่ว่าจะเป็น .com หรือ .org หรือ .asia)

ความยาวต่ำสุดหรือสูงสุดของเนื้อหา
ความยาวของเนื้อหาเพียงอย่างเดียวไม่สำคัญต่อการจัดอันดับ (ไม่มีตัวเลขวิเศษจะบอกได้ว่าจำนวนคำเท่าไหร่จึงจะดีที่สุด แต่อย่างน้อยหน้าหนึ่งก็ต้องมีสักคำ) หากคุณใช้คำที่แตกต่างกัน (เขียนตามปกติและไม่ซ้ำซ้อน) คุณมีโอกาสที่จะปรากฏใน Search มากขึ้นเพียงเพราะคุณใช้คีย์เวิร์ดมากขึ้น
โดเมนย่อยกับไดเรกทอรีย่อย
ในมุมมองทางธุรกิจ คุณควรทำอย่างไรก็ได้ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ ตัวอย่างเช่น การจัดการเว็บไซต์อาจง่ายกว่าหากคุณแบ่งกลุ่มตามไดเรกทอรีย่อย แต่ในบางกรณีการแบ่งหัวข้อออกเป็นโดเมนย่อยอาจเป็นเรื่องที่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหัวข้อหรืออุตสาหกรรมของเว็บไซต์
เพจแรงก์
แม้ว่าเพจแรงก์จะใช้ลิงก์และเป็นหนึ่งในอัลกอริทึมพื้นฐานของ Google แต่ Google Search ยังมีอะไรอีกมากมายนอกเหนือจากลิงก์ เรามีสัญญาณการจัดอันดับมากมาย และเพจแรงก์เป็นเพียงหนึ่งในนั้น
"บทลงโทษ" สำหรับเนื้อหาที่ซ้ำกัน
หากคุณมีเนื้อหาบางส่วนที่เข้าถึงได้จาก URL หลายรายการ ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวลไป วิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มีการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การคัดลอกเนื้อหาของผู้อื่นถือเป็นคนละเรื่องกัน
จำนวนและลำดับของส่วนหัว

การมีส่วนหัวเรียงลำดับตามความหมายเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโปรแกรมอ่านหน้าจอ แต่จากมุมมองของ Google Search นั้นไม่สำคัญหากคุณใช้ส่วนหัวไม่เรียงตามลำดับ โดยทั่วไปแล้วเว็บไม่ใช่ HTML ที่ถูกต้อง ดังนั้น Google Search จึงแทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหมายในเชิงความหมายที่ซ่อนอยู่ในข้อกำหนด HTML

นอกจากนี้ ยังไม่มีส่วนหัวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละหน้าในหน้าหนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม หากคุณคิดว่ามีมากเกินไป ก็อาจเป็นไปได้ว่ามากเกินไปจริงๆ

การคิดว่า E-E-A-T เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการจัดอันดับ
ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น

ขั้นตอนถัดไป

ติดตามข้อมูลและถามคำถาม

ในระหว่างที่คุณเริ่มทำ SEO โปรดดูแหล่งข้อมูลต่อไปนี้ที่จะช่วยให้คุณทราบการเปลี่ยนแปลงและแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ที่เราเผยแพร่

  • บล็อก Google Search Central: รับข้อมูลล่าสุดจากบล็อก Google Search Central คุณสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการอัปเดตของ Google Search ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Search Console และอีกมากมาย
  • Google Search Central ใน X: ติดตามเราเพื่อรับข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับ Google Search และแหล่งข้อมูลที่จะช่วยสร้างเว็บไซต์ที่ยอดเยี่ยม
  • ฟอรัมความช่วยเหลือของ Google Search Central: โพสต์คำถามเกี่ยวกับปัญหา SEO ของเว็บไซต์และค้นหาเคล็ดลับในการสร้างเว็บไซต์คุณภาพสูงจากฟอรัมผลิตภัณฑ์สำหรับเจ้าของเว็บไซต์ ในฟอรัมมีผู้ร่วมให้ข้อมูลที่มีประสบการณ์มากมาย ซึ่งรวมถึง Product Expert และ Googler ด้วยในบางครั้ง
  • ช่อง YouTube ของ Google Search Central: ดูวิดีโอที่เป็นประโยชน์หลายร้อยรายการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเจ้าของเว็บไซต์