คู่มือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือการค้นหา (SEO) สำหรับมือใหม่

ตอนที่สร้างเว็บไซต์ คุณคงจะสร้างเว็บไซต์โดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก รวมถึงพยายามทำให้ผู้ใช้ค้นพบและสำรวจเนื้อหาของคุณได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือค้นหา ซึ่งช่วยให้ผู้คนค้นพบเนื้อหาของคุณ SEO ย่อมาจากการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนเครื่องมือค้นหา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการช่วยให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจเนื้อหาของคุณ และช่วยผู้ใช้ให้ค้นพบเว็บไซต์ของคุณและตัดสินใจว่าควรเข้าชมเว็บไซต์ผ่านเครื่องมือค้นหาหนึ่งๆ หรือไม่

Search Essentials จะระบุองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสิ่งที่ทำให้เว็บไซต์มีสิทธิ์ปรากฏใน Google Search แม้ว่าจะไม่มีการรับประกันว่าจะมีการเพิ่มเว็บไซต์หนึ่งๆ ลงในดัชนีของ Google แต่เว็บไซต์ที่เป็นไปตาม Search Essentials มีแนวโน้มที่จะแสดงในผลการค้นหาของ Google มากกว่า SEO กำลังจะก้าวสู่ขั้นถัดไปและกำลังปรับปรุงการแสดงข้อมูลของเว็บไซต์ใน Search คู่มือนี้จะอธิบายเกี่ยวกับการปรับปรุงที่มีประสิทธิภาพและพบบ่อยที่สุดที่คุณสามารถทำได้ในเว็บไซต์

ไม่มีเคล็ดลับใดที่จะจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณให้ติดอันดับหนึ่งใน Google ได้โดยอัตโนมัติ (ต้องขอโทษด้วย) ที่จริ'คำแนะนำบางอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ แต่การทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำอาจช่วยให้เครื่องมือค้นหา (ไม่ใช่แค่ Google) ทำการ Crawl, จัดทำดัชนี และเข้าใจเนื้อหาของคุณได้ง่ายขึ้น

วิธีการทำงานของ Google Search

Google เป็นเครื่องมือค้นหาที่ทำงานอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Crawler ในการสำรวจเว็บอย่างสม่ำเสมอในการมองหาหน้าเว็บเพื่อเพิ่มลงในดัชนีของเรา ปกติแล้วคุณไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ แค่ทำการเผยแพร่เว็บไซต์ในเว็บเท่านั้น อันที่จริง เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่แสดงในผลการค้นหาของเราจะได้รับการค้นพบและเพิ่มในผลการค้นหาโดยอัตโนมัติเมื่อเราทำการ Crawl เว็บ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เรามีเอกสารประกอบเกี่ยวกับวิธีที่ Google ค้นพบ, ทำการ Crawl และแสดงหน้าเว็บ

นานเท่าใดกว่าฉันจะเห็นผลลัพธ์ในผลการค้นหา

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่คุณทำจะต้องใช้เวลาสักพักจึงจะแสดงให้เห็นในฝั่ง Google การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจมีผลใน 2-3 ชั่วโมง แต่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อาจใช้เวลาหลายเดือน โดยทั่วไปแล้ว คุณอาจต้องรอ 2-3 สัปดาห์เพื่อดูว่างานของคุณได้รับผลที่เป็นคุณในผลการค้นหาของ Google Search ไหม โปรดทราบว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่คุณทำกับเว็บไซต์จะไม่ส่งผลให้เกิดผลที่ชัดเจนในผลการค้นหา หากคุณไม่พอใจกับผลลัพธ์และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางไว้ ให้ลองทำซ้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และดูว่าจะส่งผลใดๆ หรือไม่

ช่วยให้ Google ค้นพบเนื้อหาของคุณ

ก่อนจะดำเนินการใดๆ ที่กล่าวถึงในส่วนนี้ ให้ตรวจสอบว่า Google พบเนื้อหาของคุณแล้วหรือยัง (บางทีคุณอาจไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้) ลองค้นหาเว็บไซต์ใน Google ด้วย site: search operator หากคุณเห็นผลการค้นหาที่ชี้ไปยังเว็บไซต์ของคุณ แสดงว่าคุณอยู่ในดัชนีแล้ว เช่น การค้นหา site:wikipedia.org จะแสดงผลการค้นหาเหล่านี้ หากไม่เห็นเว็บไซต์ของตัวเอง โปรดอ่านข้อกำหนดทางเทคนิคเพื่อตรวจสอบว่าในทางเทคนิคแล้วไม่มีส่วนที่ป้องกันไม่ให้เว็บไซต์แสดงใน Google Search แล้วกลับมาที่นี่

Google จะค้นหาหน้าเว็บผ่านลิงก์จากหน้าอื่นๆ ที่ได้ทำการ Crawl ไว้แล้วเป็นหลัก ในหลายกรณี เว็บไซต์เหล่านี้จะเป็นเว็บไซต์อื่นๆ ที่ลิงก์อยู่กับหน้าเว็บของคุณ เว็บไซต์อื่นๆ ที่ลิงก์มายังเว็บไซต์ของคุณนั้นจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป และคุณยังกระตุ้นให้ผู้ใช้ค้นพบเนื้อหาของคุณโดยการโปรโมตเว็บไซต์ได้ด้วย

หากพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายทางเทคนิคสักเล็กน้อย คุณอาจส่ง Sitemap ซึ่งเป็นไฟล์ที่มี URL ทั้งหมดในเว็บไซต์ที่คุณให้ความสำคัญ ระบบการจัดการเนื้อหา (CMS) บางระบบอาจดำเนินการนี้ให้คุณโดยอัตโนมัติ แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อกำหนด และคุณควรให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับเว็บไซต์ของคุณก่อน

ตรวจสอบว่า Google เห็นหน้าเว็บของคุณแบบเดียวกับที่ผู้ใช้เห็นหรือไม่

เมื่อ Google ทำการ Crawl หน้าเว็บ Google ควรเห็นหน้านั้นเหมือนกับที่ผู้ใช้ทั่วไปเห็น ด้วยเหตุนี้ Google จึงต้องเข้าถึงทรัพยากรเดียวกันกับเบราว์เซอร์ของผู้ใช้ได้ หากเว็บไซต์ซ่อนคอมโพเนนต์สำคัญที่ประกอบกันเป็นเว็บไซต์ (เช่น CSS และ JavaScript) Google อาจไม่เข้าใจ ซึ่งหมายความว่าหน้าเว็บอาจไม่แสดงในผลการค้นหาหรือไม่อยู่ในอันดับที่ดีสําหรับคําที่คุณกําหนดเป้าหมาย

หากหน้าเว็บมีข้อมูลที่แตกต่างกันตามสถานที่ตั้งทางกายภาพของผู้ใช้ ให้ตรวจสอบว่าคุณพอใจกับข้อมูลที่ Google เห็นจากตำแหน่งของ Crawler ซึ่งโดยทั่วไปคือสหรัฐอเมริกา

หากต้องการตรวจสอบว่า Google เห็นหน้าเว็บของคุณอย่างไร ให้ใช้เครื่องมือตรวจสอบ URL ใน Search Console

หากไม่ต้องการให้หน้าเว็บแสดงในผลการค้นหาของ Google

การเลือกไม่ให้เว็บไซต์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเว็บไซต์ปรากฏในผลการค้นหาอาจเป็นสิ่งสำคัญ เช่น คุณอาจไม่ต้องการให้โพสต์เกี่ยวกับผมทรงใหม่เด๋อๆ ที่คุณเพิ่งไปตัดมาแสดงในผลการค้นหา Google รองรับวิธีต่างๆ ที่ให้คุณเลือกไม่ขอรับการ Crawl และการจัดทำดัชนี URL ได้ หากต้องการบล็อกบางไฟล์ ไดเรกทอรี หรือแม้แต่ทั้งเว็บไซต์ไม่ให้แสดงใน Google Search โปรดดูคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกันไม่ให้เนื้อหาปรากฏในผลการค้นหา

จัดระเบียบเว็บไซต์ของคุณ

เมื่อตั้งค่าหรือทำซ้ำเว็บไซต์ คุณควรจัดระเบียบเว็บไซต์อย่างสมเหตุสมผล เพราะจะช่วยให้เครื่องมือค้นหาและผู้ใช้เข้าใจว่าหน้าเว็บเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ ในเว็บไซต์อย่างไร อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งทิ้งทุกอย่างแล้วเริ่มจัดระเบียบเว็บไซต์ใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ แม้ว่าคำแนะนำเหล่านี้จะมีประโยชน์ในระยะยาว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังทำงานในเว็บไซต์ขนาดใหญ่) แต่เครื่องมือค้นหาก็น่าจะเข้าใจ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าเว็บไซต์ของคุณจะจัดระเบียบอย่างไร

ใช้ URL ที่สื่อความหมาย

บางส่วนของ URL อาจแสดงในผลการค้นหาเป็นเบรดครัมบ์เพื่อให้ผู้ใช้ใช้ URL ดังกล่าวในการทำความเข้าใจว่าผลการค้นหาจะมีประโยชน์ต่อตนเองได้ด้วยหรือไม่

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาข้อความใน Google Search ที่มีข้อความไฮไลต์ซึ่งติดป้ายกํากับเจาะจงองค์ประกอบที่มองเห็นของ URL ซึ่งรวมถึงโดเมนและเบรดครัมบ์

โดเมน

เบรดครัมบ์

Google จะเรียนรู้เบรดครัมบ์โดยอัตโนมัติตามคำใน URL แต่คุณสามารถสร้างอิทธิพลต่อคำเหล่านั้นด้วย Structured Data ได้ด้วย หากชอบความท้าทายทางเทคนิค พยายามใส่คำใน URL ที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ เช่น

https://www.example.com/pets/cats.html

URL ที่มีเฉพาะตัวระบุแบบสุ่มมีประโยชน์น้อยกว่าสำหรับผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น

https://www.example.com/2/6772756D707920636174

จัดกลุ่มหน้าที่คล้ายกันในไดเรกทอรี

ภาพประกอบแสดงวิธีจัดกลุ่มหน้าเว็บในไดเรกทอรี

หากคุณมี URL หลายพันรายการในเว็บไซต์ วิธีที่คุณจัดระเบียบเนื้อหาอาจมีผลต่อวิธีที่ Google ทำการ Crawl และจัดทำดัชนีเว็บไซต กล่าวอย่างเจาะจงคือ การใช้ไดเรกทอรี (หรือโฟลเดอร์) เพื่อจัดกลุ่มหัวข้อที่คล้ายกันจะช่วยให้ Google ดูความถี่ที่ URL ในแต่ละไดเรกทอรีมีการเปลี่ยนแปลงได้

ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณา URL ต่อไปนี้

https://www.example.com/policies/return-policy.html

https://www.example.com/promotions/new-promos.html

เนื้อหาในไดเรกทอรี policies มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แต่เนื้อหาในไดเรกทอรี promotions มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ Google จะดูข้อมูลนี้และทำการ Crawl ไดเรกทอรีต่างๆ ด้วยความถี่ที่ต่างกันได้ หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างเว็บไซต์ที่ค้นหาได้ง่าย โปรดอ่านคำแนะนำสำหรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ซึ่งโครงสร้าง URL ที่ดีมีความสำคัญกว่ามากเพราะมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

ลดเนื้อหาที่ซ้ำกัน

บางเว็บไซต์แสดงเนื้อหาเดียวกันภายใต้ URL ที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่าเนื้อหาที่ซ้ำกัน เครื่องมือค้นหาจะเลือก URL เดียว (Canonical URL) เพื่อแสดงต่อผู้ใช้ต่อเนื้อหาชิ้นหนึ่ง

การมีเนื้อหาที่ซ้ำกันในเว็บไซต์ไม่ถือเป็นการละเมิดนโยบายสแปม แต่อาจทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี และเครื่องมือค้นหาอาจสูญเสียทรัพยากรในการ Crawl จาก URL ที่คุณไม่สนใจเลย หากอยากลองอะไรใหม่ๆ คุณควรตรวจสอบว่าได้ระบุเวอร์ชัน Canonical สำหรับหน้าเว็บหรือไม่ แต่ถ้าคุณไม่ได้กำหนดหน้า Canonical URL ไว้เอง Google จะพยายามทำให้โดยอัตโนมัติ

เมื่อกำหนดหน้า Canonical ให้พยายามตรวจสอบว่าเนื้อหาแต่ละส่วนในเว็บไซต์เข้าถึงได้ผ่าน URL เดียวเท่านั้น การมีหน้าเว็บ 2 หน้าที่มีข้อมูลของโปรโมชันเหมือนกันอาจทำให้ผู้ใช้สับสนได้ (เช่น ผู้ใช้อาจสงสัยว่าหน้าใดถูกต้อง และหน้าใดหน้าหนึ่งแตกต่างกันหรือไม่)

หากคุณมีหน้าเว็บหลายหน้าที่มีข้อมูลเหมือนกัน ให้ลองตั้งค่าการเปลี่ยนเส้นทางจาก URL ที่ไม่ต้องการไปยัง URL ที่แสดงข้อมูลนั้นได้ดีที่สุด หากเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ ให้ใช้องค์ประกอบ rel="canonical" link แทน ขอย้ำว่าอย่ากังวลกับเรื่องนี้มากจนเกินไป โดยทั่วไปแล้วเครื่องมือค้นหามักหาคำตอบให้คุณได้

ทำให้เว็บไซต์น่าสนใจและมีประโยชน์

การสร้างเนื้อหาที่ผู้คนเห็นว่าน่าสนใจและมีประโยชน์มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการแสดงข้อมูลของเว็บไซต์ในผลการค้นหามากกว่าคำแนะนำอื่นๆ ในคู่มือนี้ แม้ว่า "เนื้อหาที่น่าสนใจและมีประโยชน์" อาจมีความหมายแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน แต่เนื้อหาลักษณะนี้มักมีคุณลักษณะทั่วไปบางอย่างเหมือนๆ กัน เช่น

  • ข้อความอ่านง่ายและเป็นระเบียบ: เขียนเนื้อหาได้อย่างเป็นธรรมชาติและต้องเขียนเนื้อหาให้ออกมาดี อ่านง่าย และไม่มีข้อผิดพลาดด้านการสะกดและไวยากรณ์ แบ่งเนื้อหาขนาดยาวออกเป็นย่อหน้าและส่วนต่างๆ และมีส่วนหัวข้อเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไปยังส่วนต่างๆ ของหน้าเว็บได้
  • เนื้อหามีเอกลักษณ์: เมื่อคุณเขียนเนื้อหาใหม่ อย่าคัดลอกเนื้อหาของผู้อื่นมาบางส่วนหรือทั้งหมด แต่ให้สร้างเนื้อหาโดยอิงจากสิ่งที่คุณรู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ อย่าเพียงแค่ดัดแปลงสิ่งที่ผู้อื่นเผยแพร่ไปแล้ว
  • เนื้อหาเป็นปัจจุบัน: ตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้และอัปเดตเนื้อหาตามความจำเป็น หรือแม้กระทั่งลบเนื้อหาออกหากไม่เกี่ยวข้องแล้ว
  • เนื้อหามีประโยชน์ น่าเชื่อถือ และคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก: ต้องเขียนเนื้อหาที่ผู้อ่านจะพบว่าเป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ เช่น การระบุแหล่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์จะช่วยให้ผู้คนทราบถึงความเชี่ยวชาญของคุณซึ่งเกี่ยวกับบทความที่คุณเขียน

คาดหวังคำค้นหาของผู้อ่าน

ลองนึกถึงคำต่างๆ ที่ผู้ใช้อาจใช้ค้นหาเนื้อหาของคุณ ผู้ใช้ที่มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งๆ อาจใช้คีย์เวิร์ดในคำค้นหาที่ต่างจากคนอื่นๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยกับหัวข้อดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้บางคนอาจค้นหาคำว่า "ชาร์กูว์ทรี" ในขณะที่คนอื่นๆ อาจค้นหาคำว่า "ชีสบอร์ด" การคาดการณ์ถึงความแตกต่างเหล่านี้ในพฤติกรรมการค้นหาและการเขียนโดยคำนึงถึงผู้อ่านอาจส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของเว็บไซต์ในผลการค้นหา

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลหากคุณไม่ได้คาดหวังวิธีที่ผู้คนอาจค้นหาเนื้อหาของคุณทุกรูปแบบ ระบบจับคู่ภาษาของ Google มีความซับซ้อนและเข้าใจได้ว่าหน้าเว็บของคุณเกี่ยวข้องกับคำค้นหาจำนวนมากอย่างไร แม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้คำที่ตรงกับคำค้นหาเหล่านั้นอย่างชัดแจ้งก็ตาม

หลีกเลี่ยงโฆษณาที่รบกวนผู้ใช้

แม้ว่าโฆษณาจะเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตและมีจุดประสงค์ให้ผู้ใช้ได้เห็น แต่อย่าให้โฆษณารบกวนจนเกินไปหรือทำให้ผู้ใช้อ่านเนื้อหาไม่ได้ เช่น โฆษณาหรือหน้าเว็บคั่นระหว่างหน้า (หน้าที่แสดงก่อนหรือหลังเนื้อหาที่คุณคาดหวัง) ที่ทำให้ใช้งานเว็บไซต์ได้ยาก

ลิงก์เป็นวิธีที่ดีในการเชื่อมต่อผู้ใช้และเครื่องมือค้นหาไปยังส่วนอื่นๆ ของเว็บไซต์ หรือหน้าที่เกี่ยวข้องในเว็บไซต์อื่นๆ อันที่จริงหน้าเว็บใหม่ๆ ส่วนใหญ่ที่ Google พบในทุกๆ วันมาจากลิงก์ ซึ่งทำให้ลิงก์เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่คุณต้องพิจารณาเพื่อช่วยให้ Google ค้นพบหน้าเว็บและอาจแสดงในผลการค้นหา นอกจากนี้ ลิงก์ยังเพิ่มคุณค่าด้วยการเชื่อมโยงผู้ใช้ (และ Google) กับแหล่งข้อมูลอื่นเพื่อยืนยันสิ่งที่คุณเขียนถึง

ภาพประกอบแสดงวิธีที่หน้าเว็บหนึ่งลิงก์ไปยังแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข้อความลิงก์ (หรือที่เรียกว่า Anchor Text) คือส่วนข้อความของลิงก์ที่คุณเห็น ข้อความนี้บอกผู้ใช้และ Google เกี่ยวกับหน้าเว็บที่คุณกำลังลิงก์ไป เมื่อใช้ Anchor Text ที่เหมาะสม ผู้ใช้และเครื่องมือค้นหาจะเข้าใจได้โดยง่ายว่าหน้าเว็บที่ลิงก์ไว้มีข้อมูลใดบ้างก่อนที่จะเข้าชม ภาพประกอบที่แสดงส่วนข้อความของลิงก์

ลิงก์จะให้บริบทเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งๆ ทั้งสำหรับผู้ใช้และเครื่องมือค้นหา ซึ่งจะช่วยแสดงความรู้ของคุณเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณลิงก์ไปยังหน้าเว็บที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น เนื้อหาในเว็บไซต์อื่นๆ ให้ตรวจสอบว่าคุณเชื่อถือแหล่งข้อมูลที่จะลิงก์ไป หากคุณเชื่อถือเนื้อหานั้นไม่ได้และยังคงต้องการลิงก์ไปยังเนื้อหานั้น ให้เพิ่ม nofollow หรือคำอธิบายประกอบที่คล้ายกันลงในลิงก์ดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องมือค้นหาที่เชื่อมโยงเว็บไซต์ของคุณกับเว็บไซต์ที่คุณลิงก์ไป ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับการจัดอันดับของคุณใน Google Search

หากคุณยอมรับเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นในเว็บไซต์ เช่น โพสต์ในฟอรัมหรือความคิดเห็น ให้ตรวจสอบว่าทุกลิงก์ที่โพสต์โดยผู้ใช้มี nofollow หรือคำอธิบายประกอบที่คล้ายกันซึ่ง CMS เพิ่มเข้ามาโดยอัตโนมัติ เนื่องจากในกรณีนี้คุณไม่ได้เป็นผู้สร้างเนื้อหา ก็อาจไม่ต้องการให้เว็บไซต์ไปเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ที่ลิงก์ผู้ใช้ลิงก์ไปโดยไม่ได้ตรวจสอบอะไร วิธีนี้ยังช่วยขัดขวางไม่ให้นักส่งสแปมละเมิดเว็บไซต์ของคุณด้วย

กำหนดรูปลักษณ์ของเว็บไซต์ใน Google Search

หน้าผลการค้นหาของ Google Search โดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบภาพต่างๆ 2-3 รายการที่คุณสามารถกำหนดได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจว่าจะเข้าชมเว็บไซต์ผ่านผลการค้นหาเหล่านั้นหรือไม่ ในส่วนนี้ เราจะเน้นที่ลิงก์ Title และตัวอย่างข้อมูลเนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญมากกว่า

กำหนดลิงก์ Title ของคุณ

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาข้อความใน Google Search ซึ่งมีกรอบไฮไลต์รอบส่วนที่เป็นลิงก์ Title

วิธีทำน้ำมันพริกด้วยตัวเอง

ลิงก์ Title คือส่วนบรรทัดแรกของผลการค้นหาซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าจะคลิกผลการค้นหาใด Google ใช้แหล่งที่มา 2-3 รายการในการสร้างลิงก์ Title นี้ ซึ่งรวมถึงคำในองค์ประกอบ <title> (หรือที่เรียกว่าข้อความชื่อ) และส่วนหัวอื่นๆ ในหน้าเว็บ ข้อความชื่อนี้ยังใช้สำหรับชื่อที่แสดงในเบราว์เซอร์และบุ๊กมาร์กได้ด้วย

ภาพประกอบแสดงลักษณะของข้อความชื่อในหน้าเว็บ และหน้าตาของข้อความใน HTML

คุณสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีของลิงก์ Title ใน Search ได้โดยตั้งชื่อที่ดี ชื่อที่ดีจะไม่ซ้ำกันกับหน้าเว็บ มีความชัดเจนและกระชับ รวมถึงอธิบายเนื้อหาของหน้าได้อย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ชื่อของคุณอาจมีชื่อเว็บไซต์หรือธุรกิจ ข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น สถานที่ตั้งจริงของธุรกิจ และอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่หน้าเว็บนั้นๆ ที่ต้องนำเสนอแก่ผู้ใช้ เอกสารประกอบเกี่ยวกับลิงก์ Title มีเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีสร้างชื่อที่ดี และวิธีทำให้ลิงก์ Title ของเว็บไซต์ให้ผลลัพธ์ที่ดี

ควบคุมข้อมูลโค้ดของคุณ

ใต้ลิงก์ Title ผลการค้นหามักจะมีคำอธิบายหน้าเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าควรคลิกผลการค้นหาหรือไม่ คำอธิบายนี้เรียกว่าตัวอย่างข้อมูล

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาข้อความใน Google Search พร้อมกรอบที่ไฮไลต์รอบตัวอย่างข้อมูล

ดูวิธีทำอาหารจานไข่ด้วยคำแนะนำฉบับเต็มนี้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที เราครอบคลุมวิธีทำทั้งหมด ทั้งไข่ดาว ไข่ต้ม และไข่ดาวน้ำ

ตัวอย่างข้อมูลมีที่มาจากเนื้อหาจริงของหน้าเว็บที่ผลการค้นหาลิงก์ไป ดังนั้นคุณจึงเป็นผู้ควบคุมการใช้ถ้อยคำในการสร้างตัวอย่างข้อมูลอย่างเต็มที่ ในบางครั้ง ตัวอย่างข้อมูลอาจมาจากเนื้อหาของแท็กคำอธิบายเมตา ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นข้อมูลสรุปสั้นๆ ของหน้าใน 1 หรือ 2 ประโยค คำอธิบายเมตาที่ดีควรสั้นกระชับ ไม่ซ้ำกับหน้าอื่นใด รวมถึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน้านั้นมากที่สุด ลองดูเคล็ดลับการเขียนคำอธิบายเมตาที่ดีเพื่อหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติม

เพิ่มรูปภาพในเว็บไซต์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรูปภาพเหล่านั้น

ผู้คนจำนวนมากค้นหาด้วยภาพ และรูปภาพอาจเป็นวิธีการที่ผู้คนพบเว็บไซต์ของคุณเป็นครั้งแรก เช่น หากคุณมีบล็อกสูตรอาหาร ผู้ใช้อาจพบเนื้อหาของคุณได้โดยการค้นหา "สูตรทาร์ตผลไม้" และเลือกดูรูปภาพของทาร์ตผลไม้ประเภทต่างๆ

เมื่อคุณเพิ่มรูปภาพลงในเว็บไซต์ อย่าลืมตรวจสอบว่าผู้คนและเครื่องมือค้นหาจะค้นพบและเข้าใจรูปภาพเหล่านั้นได้

เพิ่มรูปภาพคุณภาพสูงที่อยู่ใกล้กับข้อความที่เกี่ยวข้อง

การใช้รูปภาพคุณภาพสูงเป็นการให้บริบทและรายละเอียดที่เพียงพอแก่ผู้ใช้ในการตัดสินใจว่ารูปภาพใดตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้มองหามากที่สุด ตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้กำลังมองหา "ดอกเดซี่" และพบดอกเอเดลไวส์ในผลการค้นหา รูปภาพที่มีคุณภาพดีกว่าจะช่วยจำแนกชนิดของดอกไม้ได้

ใช้รูปภาพที่คมชัดและชัดเจน แล้ววางไว้ใกล้กับข้อความที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ ข้อความที่อยู่ใกล้กับรูปภาพจะช่วยให้ Google เข้าใจได้ดีขึ้นว่ารูปภาพเกี่ยวกับอะไรและมีความหมายอย่างไรในบริบทของหน้าเว็บ

ตัวอย่างเช่น หากหน้าเว็บกำลังรีวิวร้านไหมพรมในลอนดอน ก็ควรฝังรูปภาพร้านไหมพรมไว้ในส่วนที่มีรายละเอียดสถานที่ตั้ง คำอธิบาย และข้อมูลรีวิวของไหมพรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ Google และผู้ใช้เชื่อมโยงรูปภาพกับข้อความที่ให้บริบทเพิ่มเติมว่าหน้านั้นเกี่ยวกับอะไร

เพิ่มข้อความแสดงแทนที่สื่อความหมายลงในรูปภาพ

ข้อความแสดงแทนเป็นข้อความสั้นๆ แต่สื่อความหมายซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูปภาพและเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจว่ารูปภาพนั้นเกี่ยวกับอะไรและรู้บริบทว่ารูปภาพเกี่ยวข้องกับหน้าเว็บอย่างไร ดังนั้นการเขียนข้อความแสดงแทนที่ดีจึงมีความสำคัญค่อนข้างมาก คุณเพิ่มข้อมูลนี้ลงใน HTML ได้ด้วยแอตทริบิวต์ alt ขององค์ประกอบ img หรือ CMS อาจมีวิธีง่ายๆ ในการระบุคำอธิบายสำหรับรูปภาพเมื่อคุณอัปโหลดรูปภาพไปยังเว็บไซต์ของคุณ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเขียนข้อความแสดงแทนที่ดี และวิธีเพิ่มข้อความลงในรูปภาพ

เพิ่มประสิทธิภาพวิดีโอของคุณ

หากเว็บไซต์มีหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอแต่ละรายการเป็นหลัก ผู้คนอาจค้นพบเว็บไซต์ของคุณผ่านผลการค้นหาวิดีโอใน Google Search ได้ด้วย แนวทางปฏิบัติแนะนำหลายๆ ข้อเกี่ยวกับรูปภาพและข้อความก็ใช้กับวิดีโอได้ด้วยเช่นกัน

  • สร้างเนื้อหาวิดีโอคุณภาพสูง และฝังวิดีโอไว้ในหน้าเดี่ยวๆ ใกล้กับข้อความที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอดังกล่าว
  • เขียนข้อความอธิบายในช่องชื่อและคำอธิบายของวิดีโอ (ชื่อของวิดีโอยังคงเป็นชื่อและเพื่อให้นำแนวทางปฏิบัติแนะนำไปใช้ในการตั้งชื่อที่นี่ได้ด้วย)

หากเว็บไซต์มุ่งเน้นที่วิดีโอเป็นพิเศษ ให้อ่านต่อไปเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวิดีโอสำหรับเครื่องมือค้นหา

โปรโมตเว็บไซต์

การโปรโมตเนื้อหาใหม่อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันและเครื่องมือค้นหาค้นพบได้เร็วขึ้น ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดีย
  • การมีส่วนร่วมของชุมชน
  • โฆษณาทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์
  • การบอกกันปากต่อปากและวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย

หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดคือการบอกกันปากต่อปาก กล่าวคือ ผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับเว็บไซต์ของคุณจะบอกให้เพื่อนรู้และมาเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลา และโดยปกติแล้วคุณจะต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามกับแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ก่อน เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนๆ ของเราที่ Google for Creators มีแหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการสร้างและมีส่วนร่วมกับผู้ชม

การทุ่มเทความพยายามในการโปรโมตบริษัทหรือเว็บไซต์แบบออฟไลน์อาจให้ผลคุ้มค่าได้ด้วย เช่น หากคุณมีเว็บไซต์ธุรกิจ ให้ตรวจสอบว่า URL ของเว็บไซต์ดังกล่าวแสดงอยู่ในนามบัตร หัวจดหมาย โปสเตอร์ และเอกสารอื่นๆ เมื่อได้รับสิทธิ์ คุณจะส่งจดหมายข่าวตามรอบให้กับผู้ชมเพื่อบอกให้ผู้ชมทราบเกี่ยวกับเนื้อหาใหม่ในเว็บไซต์ได้ด้วย

เช่นเดียวกับทุกอย่างในชีวิตคุณ คุณเลือกที่จะโปรโมตเว็บไซต์มากเกินไปและส่งผลเสียต่อเว็บไซต์ได้ เช่น ผู้ใช้อาจรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการโปรโมต และเครื่องมือค้นหาอาจมองว่าการกระทำบางอย่างเป็นการบิดเบือนผลการค้นหา

สิ่งที่เราเชื่อว่าคุณไม่ควรไปมุ่งเน้นมากนัก

เนื่องจาก SEO มีการพัฒนาไปอยู่ตลอดเวลา แนวคิดและหลักปฏิบัติ (และบางครั้งก็มีความเข้าใจผิด) เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ด้วยเช่นกัน สิ่งที่เคยถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติแนะนำหรือลำดับความสำคัญสูงสุดในอดีตอาจไม่เกี่ยวข้องหรือมีประสิทธิภาพอีกต่อไป เนื่องจากรูปแบบการพัฒนาของเครื่องมือค้นหา (และอินเทอร์เน็ต) เมื่อเวลาผ่านไป

เพื่อช่วยให้คุณมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่สำคัญจริงๆ เกี่ยวกับ SEO เราได้รวบรวมบางหัวข้อที่พบเห็นได้ทั่วไปและโดดเด่นที่สุดซึ่งพบเห็นได้ในวงกว้างบนอินเทอร์เน็ต โดยทั่วไปแล้ว ข้อความที่เราพูดถึงในหัวข้อเหล่านี้คือคุณควรทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของตนเอง เราจะอธิบายเกี่ยวกับประเด็นที่เฉพาะเจาะจง 2-3 ประเด็นต่อไปนี้

คีย์เวิร์ดของเมตา
Google Search ไม่ได้ใช้เมตาแท็กคีย์เวิร์ด
การใช้คีย์เวิร์ดในทางที่ผิด
การใช้คำเดียวกันซ้ำๆ มากเกินไป (แม้จะเป็นรูปแบบต่างกัน) ก็เป็นเรื่องน่าเหนื่อยใจสำหรับผู้ใช้ และการใช้คีย์เวิร์ดในทางที่ผิดถือเป็นการละเมิดนโยบายสแปมของ Google
คีย์เวิร์ดในชื่อโดเมนหรือเส้นทาง URL

ทำสิ่งที่เหมาะกับธุรกิจมากที่สุดเมื่อเลือกชื่อเว็บไซต์ ผู้ใช้จะใช้ชื่อนี้ในการค้นหาคุณ เราจึงขอแนะนำให้ทำตามแนวทางปฏิบัติแนะนำทั่วไปด้านการตลาด จากมุมมองการจัดอันดับ คีย์เวิร์ดในชื่อโดเมน (หรือเส้นทาง URL) เพียงอย่างเดียวแทบจะไม่ส่งผลอะไรเลยนอกจากการแสดงในเบรดครัมบ์

และขณะที่พูดถึงชื่อโดเมน: TLD (ชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วย ".com" หรือ ".guru") มีความสำคัญก็ต่อเมื่อคุณกำหนดเป้าหมายผู้ใช้ของประเทศหนึ่งๆ เท่านั้น และมักเป็นสัญญาณที่ให้ผลต่ำ เช่น หากกำลังขายชีสดัตช์ให้กับผู้ที่ค้นหาจากสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อโดเมน .ch ก็ดูสมเหตุสมผลดี (ทั้งในมุมมองของธุรกิจและ SEO) มิฉะนั้น Google Search จะไม่สน TLD ที่คุณใช้ (ไม่ว่าจะเป็น .com หรือ .org หรือ .asia)

ความยาวต่ำสุดหรือสูงสุดของเนื้อหา
ความยาวของเนื้อหาเพียงอย่างเดียวไม่สำคัญต่อการจัดอันดับ (ไม่มีตัวเลขวิเศษจะบอกได้ว่าจำนวนคำเท่าไหร่จึงจะดีที่สุด แต่อย่างน้อยหน้าหนึ่งก็ต้องมีสักคำ) หากคุณใช้คำที่แตกต่างกัน (เขียนตามปกติและไม่ซ้ำซ้อน) คุณมีโอกาสที่จะปรากฏใน Search มากขึ้นเพียงเพราะคุณใช้คีย์เวิร์ดมากขึ้น
โดเมนย่อยกับไดเรกทอรีย่อย
ในมุมมองทางธุรกิจ คุณควรทำอย่างไรก็ได้ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ ตัวอย่างเช่น การจัดการเว็บไซต์อาจง่ายกว่าหากคุณแบ่งกลุ่มตามไดเรกทอรีย่อย แต่ในบางกรณีการแบ่งหัวข้อออกเป็นโดเมนย่อยอาจเป็นเรื่องที่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหัวข้อหรืออุตสาหกรรมของเว็บไซต์
เพจแรงก์
แม้ว่าเพจแรงก์จะใช้ลิงก์และเป็นหนึ่งในอัลกอริทึมพื้นฐานของ Google แต่ Google Search ยังมีอะไรอีกมากมายนอกเหนือจากลิงก์ เรามีสัญญาณการจัดอันดับมากมาย และเพจแรงก์เป็นเพียงหนึ่งในนั้น
"บทลงโทษ" สำหรับเนื้อหาที่ซ้ำกัน
หากคุณมีเนื้อหาบางส่วนที่เข้าถึงได้จาก URL หลายรายการ ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวลไป วิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มีการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การคัดลอกเนื้อหาของผู้อื่นถือเป็นคนละเรื่องกัน
จำนวนและลำดับของส่วนหัว

การมีส่วนหัวเรียงลำดับตามความหมายเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโปรแกรมอ่านหน้าจอ แต่จากมุมมองของ Google Search นั้นไม่สำคัญหากคุณใช้ส่วนหัวไม่เรียงตามลำดับ โดยทั่วไปแล้วเว็บไม่ใช่ HTML ที่ถูกต้อง ดังนั้น Google Search จึงแทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหมายในเชิงความหมายที่ซ่อนอยู่ในข้อกำหนด HTML

นอกจากนี้ ยังไม่มีส่วนหัวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละหน้าในหน้าหนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม หากคุณคิดว่ามีมากเกินไป ก็อาจเป็นไปได้ว่ามากเกินไปจริงๆ

การคิดว่า E-E-A-T เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการจัดอันดับ
ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น

ขั้นตอนถัดไป

ติดตามข้อมูลและถามคำถาม

ในระหว่างที่คุณเริ่มทำ SEO โปรดดูแหล่งข้อมูลต่อไปนี้ที่จะช่วยให้คุณทราบการเปลี่ยนแปลงและแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ที่เราเผยแพร่

  • บล็อก Google Search Central: รับข้อมูลล่าสุดจากบล็อก Google Search Central คุณสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการอัปเดตของ Google Search ฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Search Console และอีกมากมาย
  • Google Search Central ใน X: ติดตามเราเพื่อรับข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับ Google Search และแหล่งข้อมูลที่จะช่วยสร้างเว็บไซต์ที่ยอดเยี่ยม
  • ฟอรัมความช่วยเหลือของ Google Search Central: โพสต์คำถามเกี่ยวกับปัญหา SEO ของเว็บไซต์และค้นหาเคล็ดลับในการสร้างเว็บไซต์คุณภาพสูงจากฟอรัมผลิตภัณฑ์สำหรับเจ้าของเว็บไซต์ ในฟอรัมมีผู้ร่วมให้ข้อมูลที่มีประสบการณ์มากมาย ซึ่งรวมถึง Product Expert และ Googler ด้วยในบางครั้ง
  • ช่อง YouTube ของ Google Search Central: ดูวิดีโอที่เป็นประโยชน์หลายร้อยรายการซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเจ้าของเว็บไซต์