ควบคุมลิงก์ Title ของคุณในผลการค้นหา

ลิงก์ชื่อคือชื่อของผลการค้นหาใน Google Search และพร็อพเพอร์ตี้อื่นๆ (เช่น Google News) ที่ลิงก์ไปยังหน้าเว็บ Google ใช้แหล่งข้อมูลที่แตกต่างกันหลายๆ แหล่งในการกําหนดลิงก์ Title โดยอัตโนมัติ แต่คุณสามารถระบุค่ากําหนดได้เองโดยทําตามแนวทางปฏิบัติแนะนำในการกําหนดลิงก์ Title

ภาพประกอบแสดงผลการค้นหาเว็บใน Google Search ซึ่งมีกรอบไฮไลต์รอบส่วนที่เป็นลิงก์ Title

วิธีทําไข่ดาวกรอบ

แนวทางปฏิบัติแนะนําสําหรับการควบคุมลิงก์ Title ในผลการค้นหา

ลิงก์ Title มีความสำคัญเพราะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเนื้อหาของผลลัพธ์แก่ผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว และแสดงให้เห็นว่าเหตุใดผลลัพธ์จึงเกี่ยวข้องกับข้อความค้นหา ลิงก์ชื่อมักจะเป็นข้อมูลหลักที่ทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจว่าจะคลิกผลลัพธ์ใด การใช้ข้อความชื่อที่มีคุณภาพสูงในหน้าเว็บของคุณจึงมีความสำคัญ

  • ตรวจสอบว่าหน้าทุกหน้าในเว็บไซต์มีการระบุชื่อไว้ในองค์ประกอบ <title>
  • เขียนข้อความองค์ประกอบ <title> ที่สื่อความหมายและกระชับ หลีกเลี่ยงข้อบ่งชี้ที่กำกวม เช่น "บ้าน" สำหรับหน้าแรก หรือ "โปรไฟล์" สำหรับโปรไฟล์เฉพาะบุคคล
    นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงข้อความที่ยาวหรือใช้คําฟุ่มเฟือยโดยไม่จําเป็นในองค์ประกอบ <title> แม้จะไม่จํากัดความยาวขององค์ประกอบ <title> แต่โดยทั่วไป ลิงก์ Title จะถูกตัดให้สั้นลงในผลการค้นหาของ Google Search เพื่อให้พอดีกับความกว้างของหน้าจออุปกรณ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้คีย์เวิร์ดในทางที่ผิด บางครั้งการมีคีย์เวิร์ดที่สื่อความหมาย 2-3 คำในองค์ประกอบ <title> ก็เป็นประโยชน์แต่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีคำหรือวลีเดียวกันซ้ำๆ หลายครั้ง ข้อความชื่ออย่างเช่น "ฟูบาร์, ฟู บาร์, ฟูบาร์ส, ฟู บาร์ส" ไม่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้ และการใช้คีย์เวิร์ดในทางที่ผิดลักษณะนี้อาจส่งผลให้เว็บไซต์ของคุณดูเหมือนสแปมสำหรับ Google และผู้ใช้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ข้อความซ้ำหรือข้อความแบบ Boilerplate ในองค์ประกอบ <title> เนื้อหาของหน้าในองค์ประกอบ <title> ของหน้าแต่ละหน้าในเว็บไซต์จำเป็นต้องมีข้อความที่แตกต่างกัน การตั้งชื่อทุกหน้าในเว็บไซต์เชิงพาณิชย์ซ้ำๆ กัน เช่น "ขายสินค้าราคาถูก" จะทำให้ผู้ใช้แยกความแตกต่างของแต่ละหน้าไม่ได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงข้อความขนาดยาวในองค์ประกอบ <title> มีรายละเอียดแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย (ชื่อแบบ Boilerplate) ตัวอย่างเช่น องค์ประกอบ <title> ทั่วไปของหน้าเว็บทุกหน้าที่มีข้อความอย่าง "ชื่อวงดนตรี - ดูวิดีโอ เนื้อเพลง โปสเตอร์ อัลบั้ม รีวิว และคอนเสิร์ต" มีข้อความที่ไม่ได้ใจความจำนวนมาก

    วิธีแก้ไขอย่างหนึ่งคืออัปเดตองค์ประกอบ <title> แบบไดนามิกเพื่อแสดงเนื้อหาที่แท้จริงของหน้าได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ใช้คำว่า "วิดีโอ" และ "เนื้อเพลง" เฉพาะเมื่อหน้านั้นมีวิดีโอหรือเนื้อเพลงอยู่เท่านั้น

  • สร้างแบรนด์ให้ชื่อของคุณโดยให้มีความกระชับ องค์ประกอบ <title> ในหน้าแรกของเว็บไซต์ควรมีข้อมูลเพิ่มเติมบางอย่างเกี่ยวกับเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น
    <title>ExampleSocialSite สถานที่ซึ่งผู้คนมาพบปะและทํากิจกรรมร่วมกัน</title>
    แต่การแสดงข้อความนั้นในองค์ประกอบ <title> ของทุกหน้าในเว็บไซต์จะดูซ้ำมากหากผลการค้นหาสำหรับข้อความค้นหาเดียวกันแสดงหลายหน้าจากเว็บไซต์ของคุณ ในกรณีนี้ ให้พิจารณาใส่ชื่อเว็บไซต์เฉพาะแค่จุดเริ่มต้นหรือท้ายสุดขององค์ประกอบ <title> แต่ละรายการ โดยแยกจากส่วนที่เหลือของข้อความด้วยอักขระคั่น เช่น ขีดกลางสั้น (-), โคลอน (:) หรือไปป์ (|) ดังนี้
    <title>ExampleSocialSite: ลงชื่อสมัครใช้บัญชีใหม่</title>
  • ระบุให้ชัดเจนว่าข้อความใดเป็นชื่อหลักของหน้านั้น Google ดูจากหลายแหล่งที่มาเมื่อสร้างลิงก์ Title ซึ่งรวมถึงชื่อของรูปภาพหลัก องค์ประกอบส่วนหัว และข้อความขนาดใหญ่และโดดเด่นอื่นๆ ซึ่งอาจสร้างความสับสนได้หากหลายส่วนหัวมีน้ำหนักและความโดดเด่นเท่าๆ กัน พิจารณาให้ชื่อหลักแตกต่างจากข้อความอื่นๆ และโดดเด่นที่สุดในหน้าเว็บ (เช่น ใช้แบบอักษรที่ใหญ่กว่า ใส่ส่วนหัวในองค์ประกอบ <h1> แรกที่มองเห็นได้ในหน้า เป็นต้น)
  • โปรดระมัดระวังเกี่ยวกับการไม่อนุญาตเครื่องมือค้นหาให้รวบรวมข้อมูลจากหน้าเว็บของคุณ การใช้โปรโตคอล robots.txt ในเว็บไซต์ แม้จะทำให้ Google หยุดการรวบรวมข้อมูลในหน้าเว็บได้ แต่อาจจะป้องกันการจัดทำดัชนีไม่ได้เสมอไป ตัวอย่างเช่น Google อาจจัดทำดัชนีหน้าเว็บของคุณหากเราค้นพบจากการติดตามลิงก์จากเว็บไซต์ของผู้อื่น หากเข้าถึงเนื้อหาในหน้าเว็บไม่ได้ เราจะอาศัยเนื้อหาที่อยู่นอกหน้าเว็บเพื่อสร้างลิงก์ชื่อ เช่น anchor text จากเว็บไซต์อื่นๆ หากไม่ต้องการให้มีการจัดทำดัชนี URL ให้ใช้กฎ noindex
  • ใช้ภาษาและระบบเขียน (หมายถึงสคริปต์หรือตัวอักษรในภาษาที่ระบุ) เหมือนกับเนื้อหาหลักในหน้าเว็บ เช่น หากหน้าเว็บเขียนเป็นภาษาฮินดี ก็ต้องเขียนองค์ประกอบ <title> เป็นภาษาฮินดีด้วย (อย่าเขียนข้อความชื่อเป็นภาษาอังกฤษหรือทับศัพท์ด้วยตัวอักขระละติน)
    Google พยายามแสดงลิงก์ Title ที่ตรงกับภาษาและระบบเขียนหลักของหน้าเว็บ หาก Google พิจารณาว่าองค์ประกอบ <title> ไม่ตรงกับระบบเขียนหรือภาษาของเนื้อหาหลักของหน้า เราอาจเลือกข้อความอื่นเป็นลิงก์ Title
  • หลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลราคาเที่ยวบินในองค์ประกอบ <title> ระบบของเราอาจไม่แสดงข้อมูลราคาเมื่อสร้างลิงก์ Title สำหรับหน้าเที่ยวบิน เนื่องจากราคาสำหรับเที่ยวบินเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (บางครั้งอาจเปลี่ยนทุก 2-3 นาที) ดังนั้นราคาที่แสดงในลิงก์ Title อาจไม่ตรงกับราคาจริงในหน้า Landing Page

Google สร้างลิงก์ชื่อในหน้าผลการค้นหาของ Google Search แบบอัตโนมัติทั้งหมด โดยคํานึงถึงทั้งเนื้อหาของหน้าเว็บและการอ้างอิงหน้าเว็บซึ่งปรากฏในอินเทอร์เน็ต เป้าหมายของลิงก์ชื่อคือเพื่อแสดงและบอกรายละเอียดของผลลัพธ์แต่ละรายการให้ดีที่สุด

Google Search ใช้แหล่งข้อมูลต่อไปนี้ในการกําหนดลิงก์ชื่อโดยอัตโนมัติ

  • เนื้อหาในองค์ประกอบ <title>
  • ชื่อรูปภาพหลักที่แสดงในหน้าเว็บ
  • องค์ประกอบส่วนหัว เช่น องค์ประกอบ <h1>
  • เนื้อหาอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่และโดดเด่นด้วยการใช้สไตล์
  • ข้อความอื่นๆ ในหน้าเว็บ
  • anchor text ในหน้าเว็บ
  • ข้อความในลิงก์ที่ชี้ไปยังหน้าเว็บ
  • Structured Data WebSite

โปรดทราบว่า Google ต้องรวบรวมข้อมูลและประมวลผลหน้าเว็บอีกครั้งจึงจะเห็นการอัปเดตแหล่งที่มาเหล่านี้ ซึ่งอาจใช้เวลา 2-3 วันไปจนถึง 2-3 สัปดาห์ หากได้ทำการเปลี่ยนแปลง คุณจะขอให้ Google รวบรวมข้อมูลหน้าเว็บอีกครั้งได้

แม้ว่าเราจะเปลี่ยนลิงก์ Title ของเว็บไซต์แต่ละแห่งด้วยตนเองไม่ได้ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ลิงก์ Title เหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องมากที่สุดอยู่เสมอ คุณปรับปรุงคุณภาพของลิงก์ชื่อที่ปรากฏในหน้าเว็บได้โดยทําตามแนวทางปฏิบัติแนะนำ

ปัญหาที่พบได้ทั่วไปและวิธีที่ Google จัดการกับปัญหาเหล่านั้น

ต่อไปนี้คือปัญหาที่พบได้ทั่วไปเกี่ยวกับลิงก์ Title ในผลการค้นหา หากต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ให้ทําตามแนวทางปฏิบัติแนะนําในการควบคุมลิงก์ Title

ปัญหาที่พบได้ทั่วไป

องค์ประกอบ <title> ที่มีครึ่งเดียว

เมื่อข้อความชื่อบางส่วนหายไป เช่น

<title>| ชื่อเว็บไซต์</title>

Google Search จะพิจารณาข้อมูลในองค์ประกอบส่วนหัวหรือข้อความอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่และเห็นได้ชัดในหน้าเว็บนั้นเพื่อสร้างลิงก์ Title ดังนี้

ชื่อผลิตภัณฑ์ | ชื่อเว็บไซต์

องค์ประกอบ <title> ที่ล้าสมัย

เมื่อมีการใช้หน้าเดียวกันทุกปีกับข้อมูลที่เกิดซ้ำๆ แต่ไม่ได้อัปเดตองค์ประกอบ <title> ให้แสดงวันที่ล่าสุด เช่น

<title>เกณฑ์การรับนักศึกษาปี 2020 - มหาวิทยาลัยสุดเจิด</title>

ในตัวอย่างนี้ หน้าเว็บดังกล่าวมีชื่อซึ่งมีขนาดใหญ่และเห็นได้ชัดเจนระบุว่า "เกณฑ์การรับนักศึกษาปี 2021" และองค์ประกอบ <title> ไม่ได้อัปเดตให้เป็นวันที่ปัจจุบัน Google Search อาจตรวจพบข้อมูลที่ไม่ตรงกันนี้ และจะใช้วันที่ที่ถูกต้องจากชื่อที่มองเห็นในหน้าเว็บใน ลิงก์ Title ดังนี้

เกณฑ์การรับนักศึกษาปี 2021 - มหาวิทยาลัยสุดเจิด

องค์ประกอบ <title> ที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อองค์ประกอบ <title> ไม่ได้แสดงถึงเนื้อหาในหน้าเว็บอย่างถูกต้อง เช่น หน้าเว็บอาจมีเนื้อหาแบบไดนามิกที่มีองค์ประกอบ <title> ต่อไปนี้

<title>ตุ๊กตาสัตว์ขนาดใหญ่ยักษ์ ตุ๊กตาหมี หมีขั้วโลก - ชื่อเว็บไซต์</title>

Google Search จะพยายามพิจารณาว่าองค์ประกอบ <title> ไม่ได้แสดงเนื้อหาในหน้าเว็บอย่างถูกต้องหรือไม่ และอาจแก้ไขลิงก์ชื่อเพื่อให้ช่วยผู้ใช้ได้ดีขึ้นหากชื่อหน้าเว็บไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของหน้า เช่น

ตุ๊กตาสัตว์ - ชื่อเว็บไซต์

ข้อความแบบ Micro-Boilerplate ในองค์ประกอบ <title>

เมื่อมีข้อความแบบ Boilerplate ที่ซ้ำกันในองค์ประกอบ <title> ของหน้าเว็บส่วนหนึ่งภายในเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ทีวีมีหน้าเว็บหลายหน้าที่ใช้องค์ประกอบ <title> เดียวกันซึ่งละเว้นหมายเลขซีซัน แต่ไม่ทราบชัดเจนว่าหน้าใดเป็นของซีซันใด ซึ่งสร้างองค์ประกอบ <title> ที่ซ้ำกันดังนี้

<title>รายการทีวีสุดแนวของฉัน</title>
<title>รายการทีวีสุดแนวของฉัน</title>
<title>รายการทีวีสุดแนวของฉัน</title>

Google Search จะตรวจหาหมายเลขซีซันที่ใช้ในข้อความชื่อเรื่องที่มีขนาดใหญ่และเห็นได้ชัดเจน แล้วใส่หมายเลขซีซันในลิงก์ Title ดังนี้

ซีซัน 1 - รายการทีวีสุดแนวของฉัน
ซีซัน 2 - รายการทีวีสุดแนวของฉัน
ซีซัน 3 - รายการทีวีสุดแนวของฉัน

ไม่มีชื่อหลักที่ชัดเจน

เมื่อมีชื่อที่ใหญ่และเด่นชัดมากกว่า 1 รายการ และไม่ชัดเจนว่าข้อความใดเป็นชื่อหลักสำหรับหน้าเว็บ เช่น หน้าเว็บมีชื่อ 2 รายการขึ้นไปที่ใช้การจัดรูปแบบหรือส่วนหัวในระดับเดียวกัน หากตรวจพบว่ามีส่วนหัวขนาดใหญ่และเด่นชัดหลายรายการ Google Search อาจใช้ส่วนหัวแรกเป็นข้อความสําหรับลิงก์ Title พิจารณาให้ส่วนหัวหลักแตกต่างจากข้อความอื่นๆ และโดดเด่นที่สุดในหน้าเว็บ (เช่น ใช้แบบอักษรที่ใหญ่กว่า ใส่ส่วนหัวในองค์ประกอบ <h1> แรกที่มองเห็นได้ในหน้า เป็นต้น)

ระบบเขียนหรือภาษาที่ใช้ในองค์ประกอบ <title> ไม่ตรงกัน

เมื่อระบบเขียนหรือภาษาของข้อความใน <title> ไม่ตรงกับระบบเขียนหรือภาษาของข้อความหลักในหน้าเว็บ ตัวอย่างเช่น เมื่อหน้าเว็บเขียนด้วยภาษาฮินดี แต่ชื่อมีข้อความในภาษาอังกฤษหรือทับศัพท์เป็นอักขระละติน หากพบว่าลิงก์ไม่ตรงกัน Google อาจสร้างลิงก์ Title ที่ตรงกับเนื้อหาหลักมากกว่า ลองตรวจสอบว่าสคริปต์และภาษาตรงกับสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหน้าเว็บ

ชื่อเว็บไซต์ซ้ำกันในองค์ประกอบ <title>

ในกรณีของชื่อเว็บไซต์ระดับโดเมน Google อาจละเว้นชื่อเว็บไซต์จากลิงก์ Title หากมีชื่อซ้ำในชื่อเว็บไซต์ที่แสดงในผลการค้นหาอยู่แล้ว

หากคุณเห็นหน้าเว็บของตัวเองแสดงในผลการค้นหาพร้อมกับลิงก์ Title ที่มีการแก้ไข ให้ตรวจสอบว่าหน้าเว็บมีปัญหาใดปัญหาหนึ่งที่ทำให้ Google ต้องปรับเปลี่ยนลิงก์ Title หรือไม่ หากไม่มี ให้พิจารณาว่าลิงก์ Title ในผลการค้นหาเหมาะกับข้อความค้นหามากกว่าหรือไม่ หากต้องการพูดคุยเกี่ยวกับลิงก์ Title ของหน้า และดูความคิดเห็นเกี่ยวกับหน้าเว็บของคุณจากเจ้าของเว็บไซต์รายอื่นๆ โปรดเข้าร่วมชุมชนความช่วยเหลือของ Google Search Central