คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับคำขอให้นำผลการค้นหาออกตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของยุโรป

 

ขั้นตอนของ Google สำหรับคำขอให้นำเนื้อหาออกมีอะไรบ้าง

บุคคลหรือผู้แทนของบุคคลดังกล่าวจะต้องกรอกแบบฟอร์มในเว็บนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน หลังจากนั้นจะได้รับอีเมลตอบกลับอัตโนมัติเพื่อยืนยันว่าเราได้รับคำขอแล้ว เราจะประเมินคำขอแต่ละรายการเป็นกรณีไป ในบางกรณี เราอาจขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบุคคลนั้น เมื่อเราตัดสินใจแล้ว บุคคลนั้นจะได้รับอีเมลแจ้งเกี่ยวกับการตัดสินใจ และหากเราไม่นำออกจากผลการค้นหา ก็จะมีการให้คำอธิบายโดยย่อ

ใครที่ส่งคำขอให้นำออกได้

บุคคลส่งคำขอให้นำออกจากผลการค้นหาได้ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลแห่งสหภาพยุโรป นอกจากนี้ เรายังอนุญาตให้บุคคลอื่นส่งคำขอในนามของอีกคนหนึ่งได้ด้วย ตราบใดที่ยืนยันได้ว่ามีการให้สิทธิ์ตามกฎหมายให้ทำเช่นนั้น

ใครเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับคำขอให้นำเนื้อหาออกจากผลค้นหา

ทีมงานของ Google LLC จะทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสม เรามีทีมผู้ตรวจสอบที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะเพื่อการนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่สำนักงานในดับลิน ไอร์แลนด์ ทีมของเราจะใช้เส้นทางการส่งต่อเรื่องสำหรับงานนี้โดยเฉพาะไปยังเจ้าหน้าที่อาวุโสและทนายความที่ Google เพื่อให้วินิจฉัยกรณีที่ตัดสินใจยากและท้าทาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2015 เป็นต้นมา มีคำขอเพียง 30% ที่เราส่งต่อเรื่องเพื่อขอความคิดเห็นเพิ่มเติม

คุณประเมินคำขออย่างไร

เราได้กำหนดเกณฑ์อย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของคณะทำงานมาตรา 29 หลังจากที่เราได้รับคำขอผ่านแบบฟอร์มในเว็บแล้ว เจ้าหน้าที่ของเราจะตรวจสอบคำขอ จะไม่มีคำขอในหมวดหมู่ใดที่ถูกปฏิเสธโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่หรือระบบ

เรามีขั้นตอนในการประเมิน 4 ขั้นดังนี้

  1. คำขอมีข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของเราหรือไม่
  2. บุคคลที่ส่งคำขอมีความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปหรือไม่ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือเป็นพลเมืองของยุโรป
  3. หน้าเหล่านั้นปรากฏขึ้นในผลการค้นหาเมื่อค้นหาด้วยชื่อของผู้ขอหรือไม่ และชื่อของผู้ขอปรากฏในหน้าที่ขอให้นำออกจากผลการค้นหาหรือไม่
  4. หน้าที่ขอให้นำออกจากผลการค้นหามีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป หรือมากเกินความจำเป็น ตามข้อมูลที่ผู้ขอให้มาหรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวที่เหลืออยู่ในผลการค้นหาอันเกิดจากการค้นหาด้วยชื่อของผู้ขอนั้นยังเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะบ้างหรือไม่

หากคำขอที่ส่งมาให้เรามีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ เราอาจขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาสนับสนุนการประเมินของเรา

เราได้รวมส่วนสรุปคำขอไว้ในรายงานเพื่อความโปร่งใส เพื่อแสดงให้เห็นถึงขอบเขตของคำขอให้นำออก

คุณจะนำหน้าเว็บทั้งหมดออกจากผลการค้นหาหรือไม่

ไม่ เราจะนำหน้าเว็บออกจากผลการค้นหาตามคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับชื่อบุคคลเท่านั้น ดังนั้น หากเราอนุมัติคำขอให้นำบทความเกี่ยวกับการเดินทางไปยังปารีสของสมชาย ใจงามออก เราจะไม่แสดงผลลัพธ์สำหรับข้อความค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ [สมชาย ใจงาม] แต่จะแสดงผลลัพธ์สำหรับข้อความค้นหาเช่น [การเดินทางไปปารีส] เรานำ URL ออกจากโดเมน Google Search ทั้งหมดในยุโรป (google.fr, google.de, google.es เป็นต้น) และใช้ข้อมูลที่บ่งบอกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เพื่อจำกัดการเข้าถึง URL ดังกล่าวจากประเทศของผู้ที่ขอให้นำเนื้อหาออก

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรานำ URL ออกตามคำขอของสมชาย ใจงาม ในประเทศไทย ผู้ใช้ในประเทศไทยจะไม่เห็น URL นั้นในผลการค้นหาที่มีคำว่า [สมชาย ใจงาม] เมื่อค้นหาในทุกโดเมนของ Google Search รวมถึง google.com แต่ผู้ใช้ที่อยู่นอกประเทศไทยจะมองเห็น URL ดังกล่าวในผลการค้นหาเมื่อทำการค้นหา [สมชาย ใจงาม] ในโดเมนของ Google Search ที่ไม่อยู่ในประเทศไทย

จะเกิดอะไรขึ้นหากมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของคุณ

หากเราตัดสินใจที่จะไม่นำ URL ออกจากผลการค้นหา บุคคลอาจส่งคำขอให้หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลในพื้นที่ตรวจสอบการตัดสินใจของเราได้

คุณจะแจ้งให้เจ้าของเว็บไซต์ทราบเมื่อมีการนำเนื้อหาออกหรือไม่

เป็นนโยบายของ Google ที่ต้องแจ้งให้เจ้าของเว็บไซต์ทราบเมื่อมีการนำหน้าเว็บจากเว็บไซต์ของพวกเขาออกจากผลการค้นหาตามคำขอตามกฏหมาย ซึ่งเราจะดำเนินการด้วยความโปร่งใส และจะส่งข้อมูลให้เฉพาะ URL ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น โดยไม่ส่งชื่อผู้ขอ เพื่อเคารพความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น

เจ้าของเว็บไซต์มีวิธีใดที่จะคัดค้านการตัดสินใจของคุณบ้างหรือไม่

เจ้าของเว็บไซต์ที่ได้รับการแจ้งเรื่องการนำเนื้อหาออกจากผลการค้นหาผ่าน Google Search Console อาจขอให้เราทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง

คำตัดสินนี้ใช้กับบริการค้นหาอื่นๆ ของ Google เช่น ค้นรูป ด้วยหรือเปล่า

ปัจจุบันขั้นตอนของเราครอบคลุมการนำผลการค้นหาออกจากผลิตภัณฑ์และบริการด้านการค้นหาของเรา เช่น Google Search, ค้นรูป, ค้นวิดีโอ และ Google News

คุณมักจะนำหน้าเว็บออกจากผลการค้นหาในกรณีใดบ้าง

ตัวอย่างของปัจจัยด้านเนื้อหาที่พบบ่อยที่สุดซึ่งทำให้เราตัดสินใจนำหน้าเว็บออกจากผลการค้นหา ได้แก่

  • การไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างชัดเจน: เช่น เว็บไซต์รวบรวมเนื้อหาที่มีหน้าต่างๆ ซึ่งมีรายชื่อติดต่อส่วนตัวหรือข้อมูลที่อยู่ กรณีที่ชื่อของผู้ขอไม่ปรากฏอยู่ในหน้านั้นอีกต่อไป และหน้าที่ไม่พร้อมใช้งานทางออนไลน์อีกต่อไป (ข้อผิดพลาด 404)
  • ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน: หน้าที่มีเนื้อหาซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลสุขภาพ รสนิยมทางเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความผูกพันทางการเมือง และสถานะของสหภาพแรงงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
  • เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์: เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์หรืออาชญากรรมของผู้เยาว์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ขอยังเป็นผู้เยาว์อยู่
  • ความผิดที่ชดใช้แล้ว/การพ้นจากความรับผิด/การพ้นจากข้อกล่าวหา: เรามักจะเห็นด้วยกับการนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ชดใช้แล้วออกจากผลการค้นหา การกล่าวหาที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นเท็จในศาลยุติธรรม หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาทางอาญาซึ่งผู้ขอพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้วออก เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายท้องถิ่นที่มีผลบังคับใช้กับการฟื้นฟูสภาพของผู้กระทำความผิด ในการวิเคราะห์ของเรา เราพิจารณาอายุของเนื้อหานั้น รวมถึงลักษณะของอาชญากรรมด้วย

โดยทั่วไปแล้ว คุณจะไม่นำหน้าเว็บออกจากผลการค้นหาในกรณีใดบ้าง

ตัวอย่างของปัจจัยด้านเนื้อหาที่พบบ่อยที่สุดซึ่งทำให้เราตัดสินใจไม่นำหน้าเว็บออกจากผลการค้นหา ได้แก่

  • การแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น: ยังมีวิธีอื่นที่ผู้ขอนำหน้าดังกล่าวออกจากผลการค้นหาของเราได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ขออาจเผยแพร่เนื้อหาลงในเว็บไซต์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถป้องกันไม่ให้เนื้อหาปรากฏในผลการค้นหา เราจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือเหล่านี้แก่ผู้ขอเมื่อเป็นไปได้
  • เหตุผลทางเทคนิค: URL ที่ไม่สมบูรณ์หรือใช้ไม่ได้เป็นข้อผิดพลาดทางเทคนิคที่พบได้บ่อย ผู้ขออาจขอให้เรานำหน้าเว็บออกจากผลการค้นหาสำหรับคำค้นหาที่ไม่ตรงกับชื่อของตน หรือชื่อของบุคคลที่ผู้ขออ้างว่าตนเป็นผู้แทน
  • URL ที่ซ้ำโดยบุคคลคนเดียวกัน: ผู้ขอส่งคำขอหลายรายการให้นำหน้าเดียวกันสำหรับชื่อเดียวกันออกจากผลการค้นหา
  • ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ชัดเจน: เราอาจปฏิเสธที่จะนำหน้าใดๆ ออกจากผลการค้นหา หากเรามีความเห็นว่าหน้าดังกล่าวมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างชัดเจน การกำหนดว่าเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่นั้นเป็นการดำเนินการที่ซับซ้อน ซึ่งอาจต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง เนื้อหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว อาชญากรรมในอดีต ตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งในชีวิตสาธารณะของผู้ขอหรือไม่ หรือพิจารณาว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นเนื้อหาที่เขียนขึ้นมาเอง เอกสารของรัฐบาล หรือเป็นเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นข่าวหรือไม่

ช่วยแสดงสถิติโดยละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของคำขอและการนำเนื้อหาเหล่านี้ออกได้หรือไม่

เรามีสถิติเกี่ยวกับอัตราของขั้นตอนการนำเนื้อหาออกจากผลการค้นหา ซึ่งอัปเดตใหม่ทุกวันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 ในรายงานเพื่อความโปร่งใส และได้เพิ่มตัวอย่างที่ไม่ระบุชื่อสำหรับการตัดสินใจนำออกจากผลการค้นหาเพื่อไว้เป็นข้อมูลอีกด้วย คุณดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยด้านเนื้อหาที่พบได้บ่อยได้ที่นี่  รายงานเชิงลึกที่ละเอียดมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014-2017 อยู่ที่นี่ เราจะคอยหาวิธีใหม่ๆ เพื่อแสดงความโปร่งใสให้มากขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินใจนำเนื้อหาออกจากผลการค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงลักษณะของคำขอที่มีความละเอียดอ่อนและเป็นส่วนตัวอย่างเหมาะสม

เหตุใดบางแผนภูมิจึงบอกว่าข้อมูลย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคม 2016 เท่านั้น

หลังจากที่มีคำตัดสินของศาลในปี 2014 Google ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อสร้างกระบวนการในการประเมินคำขอ เนื่องจากเราไม่เคยสร้างกระบวนการนี้มาก่อน ตอนนั้นเราจึงยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วเราจะติดตามและรวบรวมข้อมูลประเภทใดบ้างเกี่ยวกับคำขอ เมื่อเวลาผ่านไป เราได้ปรับแต่งและปรับปรุงขั้นตอน ตลอดจนจำนวนข้อมูลที่เราบันทึกเกี่ยวกับคำขอแต่ละรายการ ในเดือนมกราคม 2016 เราได้เปิดตัวกระบวนการภายในใหม่ซึ่งสร้างขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด 

Google จำแนกประเภทผู้ขออย่างไร 

เราใช้หมวดหมู่ผู้ขอในการจำแนกบุคคลที่ส่งคำขอให้นำเนื้อหาออกจาก Search เช่น ผู้ขอเป็นเอกชน ผู้เยาว์ นิติบุคคล หรือบุคคลสาธารณะ เราจะใช้ข้อมูลที่ได้รับจากผู้ขอเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน เช่น เหตุผลในการขอให้นำออกจากผลการค้นหา ตลอดจนข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น เนื้อหาใน URL ดังกล่าว

หมวดหมู่ต่างๆ ของผู้ขอมีอะไรบ้าง 

  • นิติบุคคล: ผู้ขอส่งคำขอในนามของธุรกิจหรือองค์กร
  • ผู้เสียชีวิต: ผู้ขอส่งคำขอในนามของผู้เสียชีวิต
  • เจ้าหน้าที่รัฐ: ผู้ขอเคยหรือกำลังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมือง
  • ผู้เยาว์: ผู้ขอยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย
  • บุคคลสาธารณะที่ไม่ใช่รัฐบาล: ผู้ขอเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ (เช่น นักแสดงชื่อดัง) หรือมีบทบาทในชีวิตสาธารณะที่สำคัญภายในภูมิภาคหรือพื้นที่บางแห่ง (เช่น นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาชีพของตน)
  • เอกชน: บุคคลนี้ไม่ตรงกับหมวดหมู่อื่นใดเลย

Google จำแนกประเภทเนื้อหาของหน้าอย่างไร

หมวดหมู่สำหรับเนื้อหาของหน้าจะจำแนกประเภทเนื้อหาที่ปรากฏในแต่ละหน้าซึ่งส่งมาพร้อมกับคำขอ RTBF โดยเนื้อหาของหน้าจะเกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานของผู้ขอ เป็นเนื้อหาที่เขียนขึ้นเอง หรืออ้างถึงคดีอาชญากรรม เราจะกำหนดหมวดหมู่นี้โดยอิงจากการตรวจสอบเนื้อหาใน URL ที่มีการขอให้นำออกจากผลการค้นหาเมื่อเราประเมินคำขอดังกล่าว 

หมวดหมู่สำหรับเนื้อหาของหน้ามีอะไรบ้าง

  • อาชญากรรม: เนื้อหาของหน้าอ้างถึงความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมของผู้ขอ เช่น เนื้อหาอาจเกี่ยวข้องกับการพิพากษาลงโทษ คำให้การของสักขีพยาน หรือสถานะผู้เสียหายของผู้ขอ 
  • ไม่พบชื่อ: ไม่พบการอ้างอิงชื่อผู้ขอในหน้าเนื้อหาใน URL ที่ให้มา แต่อาจมีชื่อบุคคลดังกล่าวปรากฏใน URL
  • ข้อมูลไม่เพียงพอ: เนื้อหาของหน้าไม่ได้รับการจัดหมวดหมู่เพราะ Google ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในการประเมินคำขอ เช่น ผู้ขอส่ง URL ที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้ระบุเหตุผลในการขอให้นำ URL ออก
  • เบ็ดเตล็ด: เนื้อหาของหน้าไม่ตรงกับหมวดหมู่ใดๆ ของเนื้อหาเลย
  • ข้อมูลส่วนบุคคล: เนื้อหาของหน้ามีที่อยู่ส่วนตัว ที่พักอาศัย หรือข้อมูลติดต่ออื่นๆ ของผู้ขอ เช่น รูปภาพและ/หรือวิดีโอของบุคคลดังกล่าว หรือข้อมูลส่วนบุคคลประเภทอื่นๆ ที่ไม่มีความละเอียดอ่อน
  • การเมือง: เนื้อหาของหน้ามีคำวิจารณ์กิจกรรมทางการเมืองหรือของรัฐบาลของผู้ขอ หรือมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติทางการเมือง นโยบายทางการเมือง หรือโปรไฟล์ของบุคคลดังกล่าวที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ 
  • ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพการงาน: เนื้อหาของหน้ามีที่อยู่ที่ทำงาน ข้อมูลติดต่อ หรือข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจของผู้ขอ
  • การกระทำผิดในอาชีพ: เนื้อหาของหน้าอ้างถึงคดีอาญาหรือกระบวนการในศาล เช่น อาชญากรรม การพ้นโทษ การพ้นผิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบทบาทในหน้าที่การงาน 
  • เขียนขึ้นมาเอง: ผู้ขอเป็นผู้เขียนเนื้อหาในหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน
  • ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน: เนื้อหาของหน้ากล่าวถึงอาการทางการแพทย์ รสนิยมทางเพศ หลักความเชื่อ ชาติพันธุ์ หรือการเข้าร่วมทางการเมืองของผู้ขอ

Google จำแนกประเภทเว็บไซต์อย่างไร 

เราใช้หมวดหมู่เว็บไซต์มาช่วยจำแนกประเภทเว็บไซต์ที่โฮสต์หน้าที่เราได้รับคำขอให้นำออกจากผลการค้นหา เช่น  เว็บไซต์ข่าว เว็บไซต์โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ของรัฐบาล เราจะตัดสินหมวดหมู่จากการตรวจสอบเว็บไซต์ระหว่างการประเมินคำขอแต่ละรายการ 

หมวดหมู่ต่างๆ ของเว็บไซต์มีอะไรบ้าง

  • ไดเรกทอรี: หน้าเว็บโฮสต์ในเว็บไซต์ที่ใช้เป็นไดเรกทอรีหรือผู้รวบรวมข้อมูล เช่น ที่อยู่ไปรษณีย์ หรือหมายเลขโทรศัพท์สำหรับธุรกิจหรือบุคคล
  • รัฐบาล: หน้าโฮสต์ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาล ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่กล่าวถึงหรือมีบันทึกเกี่ยวกับรัฐบาล ธุรกิจ หรือบันทึกทางกฎหมาย เว็บไซต์ที่เป็นแหล่งเผยแพร่สื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาล (โปรดทราบว่าสื่อสาธารณะ เช่น BBC หรือ PBS จะไม่อยู่ในหมวดหมู่นี้) 
  • ข่าว: หน้าโฮสต์ในเว็บไซต์ของแหล่งเผยแพร่สื่อหรือหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช่รัฐบาล 
  • เบ็ดเตล็ด: หน้านี้โฮสต์ในเว็บไซต์ที่ตรงกับหมวดหมู่ใดๆ
  • โซเชียลมีเดีย: หน้าเป็นโปรไฟล์ของบัญชี รูปภาพ ความคิดเห็น หรือเนื้อหาอื่นๆ ที่โฮสต์ในเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กทางออนไลน์ 

เหตุใดบาง URL ที่มีเนื้อหาของหน้าเป็น “ไม่พบชื่อ” จึงแสดงว่าถูกนำออกจากผลการค้นหาไปแล้ว

เมื่อชื่อของผู้ขอไม่ปรากฏในเนื้อหาของหน้าที่เป็นปัญหา เราอาจดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดังกล่าวแสดงในผลการค้นหาซึ่งปรากฏขึ้นเมื่อผู้ใช้พิมพ์คำค้นหาที่มีชื่อของบุคคลดังกล่าว  

เหตุใดปริมาณ URL ที่ได้รับคำขอของบางเดือนจึงแสดงค่าเป็น 0

Google เพิ่งเริ่มบันทึกข้อมูลโดยละเอียดในระดับ URL ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2014  

ฉันจะเรียนรู้เพิ่มเติมได้จากที่ไหน

ในเดือนกรกฎาคม 2014 Google ได้รับเชิญให้พูดคุยเกี่ยวกับการปฏิบัติใช้งานจริงกับคณะทำงานมาตรา 29 เราได้ทำแบบสอบถามเสร็จก่อนล่วงหน้าซึ่งอธิบายขั้นตอนและการปฏิบัติโดยละเอียด ซึ่งเราได้เผยแพร่ไว้ที่นี่ สำหรับคำตัดสินของศาลนั้นอยู่ที่นี่
true
เมนูหลัก
5638643957844680442
true
ค้นหาศูนย์ช่วยเหลือ
true
true
true
false
false