การค้นพบและการจัดอันดับแอป

เป้าหมายของเราคือการช่วยให้ผู้ใช้ค้นพบแอปและเกมที่พวกเขาจะชื่นชอบจากแอปหลายล้านแอปใน Google Play 

ผู้ใช้จะดูข้อมูลเกี่ยวกับแอปและติดตั้งแอปได้ด้วยวิธีที่หลากหลายผ่าน Google Play ในอุปกรณ์หลายประเภท เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต และทีวี ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้อาจเรียกดูหน้าแรกหรือหน้าการนำทางย่อย ค้นหาแอปหนึ่งๆ ดูรายละเอียดในหน้ารายละเอียดของแอป หรือสำรวจแอปที่บรรณาธิการคัดสรรมาให้ก็ได้ 

เราต้องการให้ผู้ใช้เห็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตน และมีประสบการณ์การใช้งานที่ดีกับแอปที่ดาวน์โหลดมา โดยทั่วไปแล้วเรามักจะให้ความสำคัญกับแอปคุณภาพสูงที่เกี่ยวข้องกับผู้ชมในวงกว้าง สิ่งที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรทำเพื่อเพิ่มการค้นพบ คือการสร้างแอปที่คนจะชอบและแนะนำให้ผู้อื่น

เราทดสอบและเพิ่มประสิทธิภาพประสบการณ์การค้นพบใน Google Play อย่างต่อเนื่องด้วยการเพิ่มหน้าการค้นพบใหม่ๆ ไปจนถึงการทดลองใช้รูปแบบภาพและเค้าโครงที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการปรับปรุงอัลกอริทึมการจัดอันดับให้ดีขึ้นด้วย

ทำความเข้าใจแอป

Google Play จะต้องเข้าใจเนื้อหาและฟังก์ชันการทำงานของแอปจึงจะช่วยให้ผู้ใช้ค้นพบแอปที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสมได้ 

เมื่อส่งแอปไปยัง Google Play นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับแอปและลักษณะเฉพาะของแอป (เช่น ชื่อแอป คำอธิบาย หมวดหมู่ เนื้อหากราฟิก) ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาและฟังก์ชันของแอปด้วย  นอกจากนี้ Google ยังระบุคุณลักษณะเฉพาะเพิ่มเติมจากแอป (เช่น แอปเป็นเกมแบบ "ผู้เล่นหลายคน") และวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้ใช้ (เช่น ดูจากคะแนน รีวิว และการมีส่วนร่วม) ข้อมูลนี้จะช่วย Google เลือกวิธีที่จะจัดอันดับ รวมถึงช่วยจัดระเบียบและนำเสนอแอปให้แก่ผู้ใช้ไม่ว่าผู้ใช้กำลังหาอะไรใหม่ๆ หรือค้นหาแอปที่เจาะจงก็ตาม

การจัดระเบียบและการจัดอันดับแอป

ผู้ใช้จะมีตัวเลือกมากมายในการค้นพบแอปใน Google Play เป้าหมายของเราในการจัดระเบียบแอปใน Play คือการกำหนดแอปที่จะแสดง จำนวนที่จะแสดง และวิธีแสดงแอปเหล่านั้นในรูปแบบที่ใช้งานง่าย  เราพิจารณาปัจจัยหลายอย่างในการจัดระเบียบแอป ได้แก่

  • ความเกี่ยวข้องกับผู้ใช้: เรากำหนดแอปที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ใช้มากที่สุดจากที่มาของการเรียกดูและคำที่ใช้ค้นหา 
  • คุณภาพของประสบการณ์การใช้งานแอป: โดยทั่วไปแล้วเราจะให้ความสำคัญกับแอปที่มีประสิทธิภาพด้านเทคนิคดีเยี่ยมและมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีแก่ผู้ใช้มากกว่าแอปที่มีคุณภาพต่ำ
  • คุณค่าที่กำหนดโดยบรรณาธิการ: Google Play มีรายการแนะนำที่คัดสรรมาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้พบเนื้อหาที่โดดเด่นและน่าสนใจ  
  • โฆษณา: นักพัฒนาซอฟต์แวร์บางรายเลือกที่จะโฆษณาใน Google Play เช่นเดียวกับในผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ของ Google โฆษณาเหล่านี้จะมีเครื่องหมายระบุไว้อย่างชัดเจนและแสดงร่วมกับเนื้อหาอื่นๆ 
  • ประสบการณ์ของผู้ใช้: Google Play มุ่งมั่นที่จะดูแลให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีระหว่างที่เลือกดูแอปมากมายที่เราให้บริการ

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการจัดอันดับนั้นจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ใช้ค้นหาใน Google Play, อุปกรณ์ที่ใช้ และค่ากำหนดส่วนบุคคล เช่น แอปที่แสดงในรายการ "อันดับสูงสุด" จะอิงตามความนิยมเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่แอปที่แสดงในผลการค้นหามักจะอิงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหาของผู้ใช้ นอกจากนี้ แอปบางแอปยังมีการปรับให้เหมาะกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้แอปอยู่ในอันดับที่สูงกว่าเมื่อค้นหาในทีวีเทียบกับการค้นหาในอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือแอปบางแอปอาจพร้อมใช้งานในอุปกรณ์บางประเภทเท่านั้น (เช่น รถยนต์) 

รายละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการจัดอันดับมีดังนี้

ก. ความเกี่ยวข้องกับผู้ใช้

เราต้องการแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้  ดังนั้นก่อนอื่นเราจะระบุว่าผู้ใช้อยู่ในแพลตฟอร์มใดของ Google Play จากนั้นตรวจสอบว่าแอปที่จะแสดงนั้นมีความเกี่ยวข้องและพร้อมให้บริการ  เช่น แอปบางแอปพร้อมให้บริการในบางประเทศหรือใช้งานได้ร่วมกับอุปกรณ์บางประเภทเท่านั้น (รวมถึงรูปแบบอุปกรณ์บางประเภท) เช่น Android TV

ในการแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้ เรายังจะต้องระบุสิ่งที่ผู้ใช้กำลังค้นหาอีกด้วย  เราอาจพิจารณาเจตนาของผู้ใช้โดยดูจากสัญญาณทางตรงหรือทางอ้อม  เช่น หากผู้ใช้เข้าชมหน้าที่เจาะจง เช่น แท็บ "เด็ก" (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมการรับรองจากครู) บ่งบอกว่าผู้ใช้ต้องการดูเฉพาะแอปสำหรับเด็ก เช่นเดียวกันการเข้าชมแท็บ "โดนใจบก." ก็เป็นการบ่งบอกว่าผู้ใช้ต้องการเห็นเฉพาะแอปที่แนะนำโดยบรรณาธิการของ Google Play  

เมื่อผู้ใช้เลือกใช้ฟังก์ชันการค้นหา เราก็ต้องระบุเจตนาที่อยู่เบื้องหลังคำค้นหาเหล่านั้น ซึ่งทำโดยการถอดความหมายของคำที่พิมพ์และพยายามระบุว่าผู้ใช้กำลังมองหาแอปที่เจาะจง (ด้วยการพิมพ์สิ่งที่เราตรวจพบว่าเป็นชื่อแอป) หรือหมวดหมู่แอป (เช่น เกมแข่งรถ) ซึ่งอาจรวมถึงการระบุคำอื่นๆ เช่น คำพ้องความหมาย เพื่อพิจารณาชุดผลการค้นหาที่เหมาะสม  เมื่อระบุเจตนาได้แล้ว เราจะใช้ข้อมูลเมตา (เช่น ชื่อ คำอธิบาย และหมวดหมู่) และสัญญาณอื่นๆ มากำหนดว่าแอปใดตรงกับคำค้นหาของผู้ใช้มากที่สุด เมื่อเจตนานั้นแคบพอ (เช่น การค้นหาชื่อแอปที่ถูกต้อง) เราจะพยายามแสดงแอปนั้นให้ผู้ใช้ แต่เมื่อเจตนามีความกว้างมากขึ้น (เช่น การค้นหา "การแก้ไขรูปภาพ") ก็จะมีแอปมากมายที่เกี่ยวข้องกับการค้นหานี้ Google Play อาจพิจารณาสัญญาณอื่นๆ ที่เราเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ใช้พบแอปที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่า เช่นปัจจัยอื่นๆ ที่อธิบายอยู่ด้านล่าง (เช่น คุณภาพของแอป เป็นต้น) หรือวิธีที่ผู้ใช้ตอบสนองต่อผลการค้นหาสำหรับคำค้นหาหนึ่งๆ  นอกจากนี้ เรายังอาจรวมเนื้อหาของ Play Movies และ Books หากเราเชื่อว่าผู้ใช้กำลังค้นหาเนื้อหาดังกล่าวขณะที่ใช้ฟีเจอร์การค้นหา

เราต้องตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หลายพันล้านคนในทุกช่วงวัยจากกว่า 190 ประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง ใน Google Play เราจึงพิจารณาด้วยว่าแอปหนึ่งๆ จะมีความเกี่ยวข้องและเหมาะสมกับผู้ชมในวงกว้างหรือไม่ หากแอปมีความเกี่ยวข้องที่จำกัดหรือมีกลุ่มเป้าหมายที่แคบลง เราอาจให้ความสำคัญกับแอปดังกล่าวเฉพาะในกรณีที่เราระบุได้อย่างมั่นใจ (เช่น ด้วยคำค้นหาหรือสถานะการเรียกดู) ว่าผู้ใช้กำลังหาแอปประเภทที่มีความเกี่ยวข้องที่จำกัดหรือมีกลุ่มเป้าหมายที่แคบจริงๆ  นอกจากนี้ เราอาจแสดงรายการแนะนำที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละบุคคลให้แก่ผู้ใช้ด้วย ตัวอย่างเช่น เราอาจใช้ข้อมูลที่เรารวบรวมไว้ (เช่น แอปที่ผู้ใช้ติดตั้งก่อนหน้านี้) เพื่อสร้างรายการแอปแนะนำในคลัสเตอร์ "สำหรับคุณ" นโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ Google ปรับเปลี่ยนบริการให้เหมาะกับผู้ใช้และการควบคุมความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

จัดการการตั้งค่าการปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ

หากต้องการปิดการปรับเปลี่ยนในแบบของคุณที่ใช้ประวัติคำสั่งซื้อและกิจกรรมใน Google ให้ทําดังนี้

  1. ลงชื่อเข้าใช้บัญชี Google
  2. ไปที่ส่วนควบคุมกิจกรรม
  3. ปิดกิจกรรมบนเว็บและแอป

หากต้องการค้นหาและลบกิจกรรมที่ผ่านมา แล้วนำออกจากการปรับเปลี่ยนในแบบของคุณ ให้ทำดังนี้

  1. ลงชื่อเข้าใช้บัญชี Google
  2. ไปที่ส่วนควบคุมกิจกรรม
  3. ไปที่ "จัดการกิจกรรม"

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อลบกิจกรรม

เคล็ดลับ: การลบกิจกรรมที่ผ่านมาอาจส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งานในบริการอื่นๆ ของ Google เช่น Google Search และ Google Assistant คุณสามารถกลับมาเปิด ลบ หรือเปลี่ยนการตั้งค่ากิจกรรมบนเว็บและแอปได้ทุกเมื่อที่ account.google.com

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมบนเว็บและแอป

 

ข. คุณภาพของประสบการณ์การใช้งานแอป

ผู้ใช้ Android คาดหวังแอปที่มีคุณภาพสูง ซึ่งหมายถึงแอปที่มอบประสบการณ์โดยรวมที่ดีและมอบคุณค่าที่เหนือกว่าความสามารถทั่วไปของอุปกรณ์  นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับแอปที่มีคุณภาพสูงเพราะเราเชื่อว่าเมื่อผู้ใช้มีประสบการณ์ในเชิงบวกกับแอปที่ติดตั้ง พวกเขาก็มักจะเชื่อมั่นในคุณภาพของแอปใน Google Play ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศทั้งหมด

เราจะผสมผสานทั้งสัญญาณที่กำหนดเองและการทำงานของอัลกอริทึมเพื่อให้มั่นใจว่าแอปที่แนะนำให้ผู้ใช้นั้นมีคุณภาพสูง  "คุณภาพของแอป" ไม่ได้ครอบคลุมแค่ฟังก์ชันของประสบการณ์การใช้งานภายในแอปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบสำคัญของประสบการณ์ก่อนการติดตั้งด้วย เช่น ไอคอนของแอป ชื่อ ภาพหน้าจอ วิดีโอ คำอธิบาย และลิงก์ สิ่งเหล่านี้ช่วยผู้ใช้ในขั้นตอนการตัดสินใจ นำเสนอภาพรวมและบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของแอปได้เป็นอย่างดี ประสบการณ์ในการสนับสนุนลูกค้าของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีความเกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน  ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจช่วยระบุว่าแอปมีคุณภาพสูงมีดังต่อไปนี้ 

  • มีการออกแบบภาพและรูปแบบการโต้ตอบกับผู้ใช้ที่เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อมอบประสบการณ์ของผู้ใช้ที่สอดคล้องและราบรื่น 
  • หากมีโฆษณาสนับสนุน จะต้องมอบประสบการณ์ในการใช้งานโฆษณาที่ดีภายในแอป
  • มีรูปแบบฟังก์ชัน เนื้อหา และฟีเจอร์ตามที่ผู้ใช้คาดหวัง และ
  • มีความเข้ากันได้ ประสิทธิภาพ ความเสถียร และการตอบสนองอย่างรวดเร็วตามที่ผู้ใช้คาดหวัง 

เราจำเป็นต้องประเมินว่าแอปมีคุณภาพสูงหรือต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแสดงแอปที่มีคุณค่าต่ำสำหรับผู้ใช้หรือแอปที่ไม่ทำงานตามที่ผู้ใช้คาดหวังในแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้เลือกค้นหารายการแนะนำแอปใหม่ๆ หรือไม่ให้ปรากฏที่ด้านบนในผลการค้นหา เนื่องจากคุณภาพของแอปจะช่วยกำหนดวิธีจัดระเบียบแอปใน Google Play เราจึงทำงานอย่างหนักเพื่อมอบคำแนะนำและเครื่องมือที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของแอปให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เรามีหลักเกณฑ์ในการทดสอบสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยในการประเมินปัจจัยหลักสำหรับคุณภาพในแอป รวมถึงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อดูแลให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ใช้และเพิ่มการแสดงผลสำหรับแอป Wear OS, TV และ Auto เรายังมีรายการตรวจสอบสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้บริการเกมของ Google Play ด้วย  เราช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ปรับปรุงแนวคิดและคุณภาพของแอปก่อนที่จะเปิดตัวโดยรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ทดสอบในแทร็กภายใน แทร็กแบบปิด และแทร็กแบบเปิด นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังเข้าไปอ่านเคล็ดลับในการปรับปรุงคุณภาพแอปและแหล่งข้อมูลใน Academy for App Success ได้ด้วย ใน Google Play Console นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น สถิติแอป, Android Vitals เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพทางเทคนิค ตลอดจนการวิเคราะห์คะแนนและรีวิว Play Console ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เปรียบเทียบประสิทธิภาพของแอปกับชุดแอปเทียบเท่าเพื่อช่วยให้เข้าใจส่วนที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในแอปได้ดียิ่งขึ้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังมีสิทธิ์เข้าถึงความคิดเห็นของผู้ใช้ในรูปแบบการให้คะแนนและรีวิวแบบสาธารณะ ซึ่งจะช่วยระบุข้อกังวลด้านคุณภาพหรือการสนับสนุนจากผู้ใช้

ค. คุณค่าที่กำหนดโดยบรรณาธิการ

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังเชื่อถือมุมมองของ Google Play ในการเสาะหาเนื้อหาที่โดดเด่นน่าสนใจ โดยเราจะแสดงรายการแนะนำที่คัดสรรโดยทีม Google Play เพื่อช่วยให้ผู้ใช้พบเนื้อหาที่ต้องการ  

ซึ่งรวมถึงการเลือกเนื้อหาที่กำหนดเองเพื่อแสดงในรายการแอปเด่นและโปรโมชัน และการสร้างตำแหน่งที่กำหนดเองโดยทีมบรรณาธิการและทีมการจัดวางสินค้าของ Google Play ตำแหน่งเหล่านี้อาจเป็นแบบต่อเนื่อง (เช่น บทความ ป้ายกำกับ หรือคำอธิบาย) หรือมีระยะเวลาจำกัด (เช่น ช่วงเทศกาลต่างๆ) และอาจแสดงโดยใช้เค้าโครงภาพหลากหลายรูปแบบ

ในการเลือกเนื้อหา ทีมบรรณาธิการและการขายสินค้าจะมุ่งเน้นที่คุณภาพของประสบการณ์การใช้งานแอป (ดูด้านบน) รวมถึงเกณฑ์อย่างเช่น ความใหม่ การออกแบบ ประโยชน์ของเนื้อหา และความน่าดึงดูดใจ  เราใช้ป้ายกำกับ "โดนใจบก." เพื่อไฮไลต์แอปที่เรามองว่าดีที่สุดสำหรับหัวข้อหนึ่งๆ นอกจากนี้ เราอาจเขียนคำอธิบายเพิ่มเติมว่าเหตุใดเราจึงคิดว่าเนื้อหาน่าสนใจ (เช่น "เหตุผลที่เรารักแอปนี้")

นอกจากนี้เราอาจทำแคมเปญการจัดวางสินค้า  ทีมอาจพิจารณาความเหมาะสมของเวลาและความเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเมื่อสร้างแคมเปญ และแคมเปญดังกล่าวอาจมีโปรโมชัน (เช่น การลดราคาวันแบล็คฟรายเดย์) หรือกิจกรรมในท้องถิ่น (เช่น วันฮาโลวีน) หรือช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา (เช่น เนื้อหามาใหม่หรืออัปเดตสำคัญ)  สำหรับบางแคมเปญ ทีมอาจพิจารณาโอกาสในการสร้างรายได้ในขณะที่เลือกเนื้อหา

ง. โฆษณา

นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะจ่ายเงินเพื่อแสดงเนื้อหาในส่วนที่มีเครื่องหมายระบุชัดเจนใน Google Play ผ่านการโฆษณาได้ โฆษณาจะมีป้ายกำกับ เช่น "โฆษณา" หรือ "ผู้สนับสนุน" ระบุไว้อยู่เสมอ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีสร้างแคมเปญ Google Ads สำหรับแอปของคุณ

จ. ประสบการณ์ของผู้ใช้ใน Google Play

เราต้องการดูแลให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีระหว่างที่เข้าชม Google Play และค้นพบแอปที่ต้องการได้ รวมถึงได้เจอแอปใหม่ๆ และแอปที่ยังไม่มีใครค้นพบ และได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับแอปเหล่านั้น  เราจึงพิจารณาประสบการณ์ของผู้ใช้ในระหว่างที่เราออกแบบทุกแง่มุมของ Google Play เช่น วิธีที่เราจัดกลุ่มแอป ตำแหน่งโฆษณาและจำนวนโฆษณาที่จะแสดงในผลการค้นหา และรูปแบบที่ใช้นำเสนอแอปแก่ผู้ใช้ ยิ่งผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่มีประโยชน์และน่าดึงดูดใจใน Google Play มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ผู้ใช้กลับมาค้นหาและติดตั้งแอปใหม่ๆ บ่อยมากขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลนี้มีประโยชน์ไหม

เราจะปรับปรุงได้อย่างไร

หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

ค้นหา
ล้างการค้นหา
ปิดการค้นหา
เมนูหลัก
13293074412683079065
true
ค้นหาศูนย์ช่วยเหลือ
true
true
true
true
true
92637
false
false