เพิ่มเนื้อหาตัวอย่างเพื่อแสดงแอปของคุณให้โดดเด่น

การเพิ่มเนื้อหาตัวอย่างที่แสดงฟีเจอร์และฟังก์ชันการทำงานของแอปในหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ของแอปจะช่วยดึงดูดผู้ใช้ใหม่ใน Google Play

คุณใช้กราฟิกเด่น ภาพหน้าจอ คำอธิบายแบบย่อ และวิดีโอเพื่อไฮไลต์และโปรโมตแอปใน Google Play รวมถึงช่องทางโปรโมตอื่นๆ ของ Google ได้

จัดการเนื้อหาตัวอย่าง

ก่อนที่จะเพิ่มเนื้อหาตัวอย่างในข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ของแอป มีสิ่งที่ควรทราบดังนี้

  • เนื้อหาตัวอย่างจะแสดงในข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ในแทร็กทดสอบทั้งหมดหลังจากที่คุณเพิ่มลงในข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store
  • คุณยกเลิกการเลือกช่อง "การตลาดภายนอก" ในหน้าการตั้งค่า Store ของแอปได้ (เพิ่มผู้ใช้ > การแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store > การตั้งค่า Store) เพื่อจำกัดการโปรโมตแอปในผลิตภัณฑ์และบริการของ Google

คุณจัดการเนื้อหาตัวอย่างของแอปได้ในหน้าข้อมูลหลักของผลิตภัณฑ์ใน Store (เพิ่มผู้ใช้ > การแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store > ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store หลัก) ใน Play Console คุณอัปโหลดรูปภาพและเพิ่มวิดีโอตัวอย่างได้ในส่วน "กราฟิก"

การใช้งานเนื้อหาตัวอย่างและหลักเกณฑ์เนื้อหา

เนื้อหาตัวอย่างที่ต่างกันมีข้อกําหนดที่ต่างกันและจะแสดงบนแพลตฟอร์มที่ต่างกัน โปรดอ่านข้อมูลด้านล่างเพื่อทำความเข้าใจว่าเนื้อหาจะถูกนำไปใช้อย่างไรและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเพิ่มเนื้อหาตัวอย่างลงในข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ของ Google Play

หลักเกณฑ์เนื้อหา: ข้อกำหนดและคำแนะนำ

  • "ข้อกําหนด" ที่ระบุไว้ในหน้านี้เป็นข้อบังคับ หากไม่สามารถทำตามข้อกําหนดอาจส่งผลให้มีการระงับหรือนำแอปออกจาก Google Play
  • แนวทางที่ระบุไว้ในส่วน "แนะนําอย่างยิ่ง" ในหน้านี้จะช่วยให้แอปหรือเกมของคุณมีสิทธิ์ได้รับการแนะนำและโปรโมตใน Google Play มากขึ้น การไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เหล่านี้จะไม่ส่งผลต่อหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store แต่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวทางการแสดงเนื้อหาตัวอย่างใน Google Play หรือจํากัดโอกาสในการโปรโมต
  • เนื้อหาทั้งหมดต้องเป็นไปตามนโยบายโปรแกรมสำหรับนักพัฒนาแอป

เนื้อหาตัวอย่าง

ไอคอนแอป

คุณต้องระบุไอคอนแอปไว้สำหรับเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ไอคอนแอปนี้ไม่ได้มาแทนที่ไอคอน Launcher ของแอป แต่ควรเป็นเวอร์ชันที่มีคุณภาพและความละเอียดสูงขึ้นซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในการออกแบบไอคอนของ Google Play

การใช้งาน

ไอคอนแอปจะใช้ในหลายตำแหน่งบน Google Play ซึ่งรวมถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store, ผลการค้นหา และอันดับสูงสุด

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

คำอธิบายแบบย่อ

คุณต้องใส่คําอธิบายแบบย่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store คําอธิบายแบบย่อคือบทสรุปสั้นๆ สำหรับใช้กระตุ้นความสนใจของผู้ใช้โดยการอธิบายถึงคุณค่าสําคัญของแอปหรือเกม

การใช้งาน

คําอธิบายแบบย่อคือข้อความแรกที่ผู้ใช้เห็นเมื่อดูหน้ารายละเอียดของแอปในแอป Play Store และผู้ใช้จะขยายดูคําอธิบายแบบเต็มของแอปได้

คําอธิบายแบบย่ออาจปรากฏในตําแหน่งอื่นนอกเหนือจากข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ดังนั้นจึงควรทำให้ผู้ใช้เข้าใจวัตถุประสงค์หลักของแอปหรือเกมได้อย่างรวดเร็วจากคำอธิบายดังกล่าว

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

  • จำกัดอักขระสูงสุด 80 ตัว

แนะนำอย่างยิ่ง

  • สรุปฟังก์ชันการทํางานหรือวัตถุประสงค์หลักของแอปหรือเกมด้วยภาษาง่ายๆ และกระชับ โดยไฮไลต์ส่วนที่โดดเด่น 
    • สําหรับแอป ส่วนที่โดดเด่นอาจเป็นฟีเจอร์ ฟังก์ชันการทำงาน เนื้อหา และประโยชน์ที่แตกต่างจากแอปอื่นๆ
    • สําหรับเกม ส่วนที่โดดเด่นอาจเป็นเกมเพลย์ กลไก โหมดผู้เล่น ฟีเจอร์ด้านโซเชียล ทรัพย์สินทางปัญญา ธีมและการตั้งค่า เรื่องราว และการเชื่อมต่อ (เช่น เล่นแบบออฟไลน์/ออนไลน์)
    • หลีกเลี่ยงการใช้คําสแลงหรือคําศัพท์เฉพาะทาง เว้นแต่ว่าผู้ใช้เป้าหมายของคุณเข้าใจคำนั้นดี
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำและฟุ่มเฟือยในคําอธิบายแบบย่อ ภาพหน้าจอ กราฟิกเด่น หรือวิดีโอของนักพัฒนาแอป จำไว้ว่าเนื้อหาเหล่านี้อาจแสดงอยู่ข้างกัน
  • แสดงสถานะล่าสุดของแอปหรือเกม 
    • หลีกเลี่ยงคำอธิบายซึ่งอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็วเพื่อลดความจำเป็นในการอัปเดต
  • อย่าใช้ภาษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันการทำงานหรือวัตถุประสงค์ของแอป ซึ่งรวมถึง
    • ภาษาที่แสดงถึงหรือบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพใน Google Play, การจัดอันดับ, ความสําเร็จหรือรางวัล, คำนิยมจากผู้ใช้ หรือข้อมูลราคาและโปรโมชัน เช่น "ดีที่สุด" "อันดับ 1" "สูงสุด" "ใหม่" "ลดราคา" หรือ "ดาวน์โหลดไปแล้วนับล้านครั้ง"
    • คํากระตุ้นการตัดสินใจ เช่น "ดาวน์โหลดเลย" "ติดตั้งเลย" "เล่นเลย" หรือ "ลองเลย"
    • คีย์เวิร์ดไม่จําเป็นที่ใช้เพื่อหวังปรับปรุงผลการค้นหา ซึ่งนอกจากจะไม่ส่งผลต่อการจัดอันดับแล้ว ยังทําให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดีอีกด้วย
  • แปลคําอธิบายให้เหมาะสมกับตลาดและภาษาต่างๆ
  • ตรวจสอบว่าคําอธิบายแบบย่อมีรูปแบบถูกต้อง ดังนี้
    • หากคําอธิบายแบบย่อมีหลายประโยค ให้ใช้จุดปิดท้ายประโยคเท่านั้น (สำหรับภาษาที่ใช้จุดเพื่อจบประโยค)
    • หากจําเป็น ให้เว้นวรรคระหว่างคํา จุด (.) คอมมา (,) และสัญลักษณ์พิเศษ (เช่น &)
    • อย่าใส่สัญลักษณ์พิเศษ ตัวแบ่งบรรทัด อีโมจิ ไอคอนสื่ออารมณ์ เครื่องหมายวรรคตอนซ้ำๆ (เช่น ?, !!, ?!, !?!, <>, \\, --, ***, +_+, …, ((, !!, $%^, ~&~, ~~~) หรือสัญลักษณ์ต่างๆ (เช่น ★ หรือ ☆)
      • อนุญาตเฉพาะอักขระมาตรฐานที่ใช้ในการสะกดคำ ไวยากรณ์ และสำนวนของภาษานั้นๆ (เช่น ¿, æ, Ø หรือ ¡)
      • อนุญาตให้มีข้อยกเว้นในการใช้สัญลักษณ์ลิขสิทธิ์ (©) เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน (®) และเครื่องหมายการค้า (™) (หากมี)
    • อย่าใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เพื่อเน้นข้อความ ดังนี้
      • ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ตามมาตรฐานของภาษาที่คุณกําลังเขียน
      • ตัวย่อต่างๆ สามารถใช้เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ได้
      • ใช้ชื่อแอปเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ได้ หากชื่อแอปในข้อมูลของ Google Play เป็นตัวพิมพ์ใหญ่เช่นกัน
กราฟิกเด่น

คุณต้องใส่กราฟิกเด่นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store กราฟิกเด่นเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้แอปหรือเกมและดึงดูดผู้ใช้ใหม่

การใช้งาน

กราฟิกเด่นจะแสดงในที่ต่างๆ ใน Google Play ดังนี้

  • แสดงเป็นภาพหน้าปกของวิดีโอตัวอย่าง (หากมี)
  • สำหรับแอป เราจะแสดงคอลเล็กชันแอปในรูปแบบขนาดใหญ่พร้อมกับกราฟิกเด่น ซึ่งรวมถึงโฆษณา
  • สำหรับเกม เราจะแสดงกลุ่มเกมแนะนำในรูปแบบขนาดใหญ่ที่มีวิดีโอและภาพหน้าจอตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่ที่เราจะแสดงกราฟิกเด่น

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

  • JPEG หรือ PNG 24 บิต (ไม่มีอัลฟ่า)
  • ขนาด: 1024 x 500 พิกเซล

แนะนำอย่างยิ่ง

  • ใช้กราฟิกที่ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้แอปหรือเกม และไฮไลต์คุณค่าหลักที่นําเสนอ บริบทที่เกี่ยวข้อง หรือองค์ประกอบในการเล่าเรื่องหากจำเป็น
    • อย่าใช้การสร้างแบรนด์ที่โดดเด่นซึ่งคล้ายกับไอคอนแอป ซึ่งจะทำให้มีองค์ประกอบที่ซ้ำกันเมื่อแสดงในบริบทที่มีไอคอนแอป เพิ่มประสิทธิภาพให้องค์ประกอบการสร้างแบรนด์ที่ทำหน้าที่เป็นส่วนขยายของไอคอนแอป
    • หลีกเลี่ยงการใส่รายละเอียดย่อยไว้ในกราฟิกมากเกินไป ซึ่งจะไม่ปรากฏในหน้าจอโทรศัพท์ส่วนใหญ่
  • วางเนื้อหาเพื่อจัดลําดับความสําคัญขององค์ประกอบหลักๆ และระวังอย่าให้มีส่วนใดอยู่ในบริเวณที่จะถูกตัดออก
    • ให้ภาพที่โดดเด่นและจุดโฟกัสอยู่ที่กึ่งกลางของกราฟิก

    • หลีกเลี่ยงการวางองค์ประกอบหลัก (เช่น โลโก้แบรนด์ ชื่อแอป สโลแกนหลัก และ UI หลัก) ในบริเวณที่จะถูกตัดออก (พื้นที่สีแดงในตัวอย่างด้านล่าง) เนื่องจากอาจมีการตัดส่วนนี้ออกโดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของ UI

    • UI บางรูปแบบอาจมีการวางซ้อน UI เพิ่มเติม ซึ่งหากไม่จัดวางองค์ประกอบตามแนวทางที่แนะนำเกี่ยวกับจุดโฟกัสและบริเวณที่อาจถูกตัดออก ก็อาจทําให้รูปแบบเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ปรากฏตามที่ตั้งใจ
    • จำกัดองค์ประกอบพื้นหลังให้อยู่ที่ขอบของกราฟิก
  • พิจารณาใช้สีสันที่สดใสยิ่งขึ้นในกราฟิกเพื่อสร้างความสนใจและความตื่นเต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้สีขาวล้วนหรือสีเทาเข้ม เพราะสีเหล่านี้จะกลมกลืนไปกับพื้นหลังของ Play Store
    • ใช้ธีมสีและสไตล์ที่คล้ายกันหรือเข้ากันในกราฟิกเด่น ไอคอนแอป และในตัวแอปเพื่อให้ผู้ใช้รู้ได้ทันทีว่านี่คือแอปและแบรนด์ของคุณ
    • หลีกเลี่ยงการใช้สีขาวล้วน สีดำ หรือสีเทาเข้มเนื่องจากอาจกลืนไปกับพื้นหลังของ Google Play ได้ง่าย
  • แปลกราฟิกและข้อความแสดงแบรนด์ตามความเหมาะสมกับตลาดและภาษาต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แสดงถึงหรือบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพใน Google Play, การจัดอันดับ, คำนิยมจากผู้ใช้, ความสําเร็จหรือรางวัล ตลอดจนข้อมูลราคาและโปรโมชัน เช่น "ดีที่สุด" "อันดับ 1" "สูงสุด" "ใหม่" "ฟรี" "ลดราคา" หรือ "ดาวน์โหลดไปแล้วนับล้านครั้ง"
  • หลีกเลี่ยงเนื้อหาซึ่งอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็วเพื่อลดความจำเป็นในการอัปเดต
    • เนื้อหาที่มีเงื่อนเวลา (เช่น อัปเดตสำหรับวันหยุดโดยเฉพาะ) ควรมีการนำขึ้นและออกในเวลาที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงองค์ประกอบรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือซ้ำกัน เช่น
    • อักขระหรือโลโก้ที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
    • ภาพอุปกรณ์ (เพราะอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็วหรือทำให้ผู้ใช้บางรายรู้สึกแปลกแยก)
    • ป้ายหรือไอคอนของ Google Play หรือร้านค้าอื่นๆ
  • ใส่ข้อความแสดงแทนไว้กับเนื้อหากราฟิกแต่ละรายการ ข้อความแสดงแทนมีความสำคัญต่อผู้ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอที่ไม่เห็นเนื้อหาที่คุณอัปโหลด ด้วยเหตุนี้ การใช้คำอธิบายข้อความแสดงแทนของเนื้อหากราฟิกแต่ละรายการจะช่วยเพิ่มระดับการมองเห็นแอปได้อย่างมากในหมู่ผู้ใช้เทคโนโลยีความช่วยเหลือพิเศษ มาดูเคล็ดลับในการเขียนข้อความแสดงแทนกัน 

    • อย่าใช้คำว่า "ภาพถ่ายของ" หรือ "รูปภาพของ" เนื่องจากโปรแกรมอ่านหน้าจอให้ข้อมูลนี้อยู่แล้ว

    • ใช้บริบทเพื่อระบุส่วนสำคัญของรูปภาพโดยใช้อักขระไม่เกิน 140 ตัว ตัวอย่างเช่น "หน้าจอธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์"

ภาพหน้าจอ

ใช้ภาพหน้าจอเพื่อสื่อถึงความสามารถ รูปลักษณ์ และประสบการณ์การใช้แอปให้ผู้มีโอกาสเป็นผู้ใช้เห็น เพื่อให้ค้นพบแอปได้ดีขึ้น คุณเพิ่มภาพหน้าจอได้สูงสุด 8 ภาพสำหรับอุปกรณ์แต่ละประเภทที่รองรับ ซึ่งได้แก่ โทรศัพท์ แท็บเล็ต (7 นิ้วและ 10 นิ้ว) Android TV และนาฬิกา Wear OS

หากต้องการอัปโหลดภาพหน้าจอสำหรับอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ในส่วนกราฟิก ให้เลื่อนไปยังส่วนที่เจาะจงของอุปกรณ์แต่ละประเภทดังนี้

  • หน้าจอขนาดใหญ่
    • สำหรับ Chromebook และแท็บเล็ต คุณเพิ่มภาพหน้าจอได้อย่างน้อย 4 ภาพเพื่อแสดงประสบการณ์การใช้งานในแอป
    • อัปโหลดภาพหน้าจอระหว่าง 1,080 ถึง 7,680 พิกเซล
    • ใช้สัดส่วนภาพ 16:9 สำหรับแนวนอน และ 9:16 สำหรับแนวตั้ง
    • ละเว้นข้อความอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้งานหลักของแอป เนื่องจากอาจถูกตัดออกในหน้าแรกของ Play สำหรับหน้าจอบางขนาด
    • อย่าลืมเพิ่มประสิทธิภาพของคุณภาพแอปสำหรับหน้าจอขนาดใหญ่โดยการดูรายการตรวจสอบคุณภาพแอป
  • Wear OS: หากเผยแพร่แอปไปยังอุปกรณ์ Wear OS ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ของแอป Wear OS ใน Google Play ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
    • มีภาพหน้าจออย่างน้อย 1 ภาพที่แสดงแอปเวอร์ชันปัจจุบันใน Wear OS ได้อย่างถูกต้อง
    • จัดเตรียมภาพหน้าจอที่แสดงเฉพาะอินเทอร์เฟซของแอป
    • ไม่วางภาพหน้าจอไว้ในกรอบอุปกรณ์ หรือใส่ข้อความ กราฟิก หรือพื้นหลังเพิ่มเติมที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในอินเทอร์เฟซของแอป
    • ใส่ภาพหน้าจอโดยใช้สัดส่วนภาพ 1:1 และขนาดขั้นต่ำ 384 x 384 พิกเซล
    • หากแอปนำเสนอ "การ์ด" เราขอแนะนำให้แชร์ภาพหน้าจอฟังก์ชันการทำงานของการ์ด
    • อย่าใส่พื้นหลังโปร่งใสหรือการมาสก์
  • หน้าปัด Wear OS: ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ของหน้าปัดใน Google Play ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
    • มีภาพหน้าจออย่างน้อย 1 ภาพที่แสดงหน้าปัดเวอร์ชันปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง
    • แสดงการเรียงสับเปลี่ยนที่มีมากกว่า 1 รายการ หากปรับแต่งหน้าปัดได้
    • จัดเตรียมภาพหน้าจอที่แสดงเฉพาะประสบการณ์การใช้งานหน้าปัด
    • ไม่วางภาพหน้าจอไว้ในกรอบอุปกรณ์ หรือใส่ข้อความ กราฟิก หรือพื้นหลังเพิ่มเติมที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในอินเทอร์เฟซของแอป
    • ใส่ภาพหน้าจอโดยใช้สัดส่วนภาพ 1:1 และขนาดขั้นต่ำ 384 x 384 พิกเซล
    • อย่าใส่พื้นหลังโปร่งใสหรือการมาสก์
  • Android TV: หากจะเผยแพร่แอปไปยังอุปกรณ์ Android TV คุณต้องเพิ่มภาพหน้าจอ Android TV อย่างน้อย 1 ภาพก่อนจึงจะเผยแพร่ได้
    • ต้องมีรูปภาพแบนเนอร์ของ Android TV ด้วยสักภาพหนึ่ง
    • ภาพหน้าจอสำหรับทีวีจะแสดงในอุปกรณ์ Android TV เท่านั้น

การใช้งาน

นอกเหนือจากข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ภาพหน้าจออาจแสดงทั่วทั้ง Google Play เช่น ในการค้นหาหรือในหน้าแรก เมื่อ Google Play แสดงทั้งวิดีโอตัวอย่างและภาพหน้าจอร่วมกัน เช่น ในหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store และหากวิดีโอแสดงตัวอย่างพร้อมใช้งาน ภาพหน้าจอจะแสดงหลังจากวิดีโอตัวอย่าง ตามด้วยภาพหน้าจอที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่ผู้ใช้กำลังใช้ดูอยู่มากที่สุดเรียงจากซ้ายไปขวา

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

ในการเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store คุณต้องจัดเตรียมภาพหน้าจออย่างน้อย 2 ภาพสำหรับอุปกรณ์รูปแบบต่างๆ ที่ตรงตามข้อกำหนดต่อไปนี้

  • JPEG หรือ PNG 24 บิต (ไม่มีอัลฟ่า)
  • ขนาดต่ำสุด: 320 พิกเซล
  • ขนาดสูงสุด: 3840 พิกเซล 
    • ด้านที่ยาวสุดของภาพหน้าจอจะยาวกว่าด้านที่เล็กสุดได้ไม่เกิน 2 เท่า

แนะนำอย่างยิ่ง

  • ในบางส่วนของ Google Play จะแสดงกลุ่มของแอปและเกมที่แนะนําในรูปแบบขนาดใหญ่โดยใช้ภาพหน้าจอ หากต้องการมีสิทธิ์แสดงคําแนะนําในรูปแบบที่ใช้ภาพหน้าจอ ให้ทําตามข้อกําหนดต่อไปนี้
    • สําหรับแอป คุณต้องจัดให้มีภาพหน้าจออย่างน้อย 4 ภาพที่มีความละเอียดขั้นต่ำ 1080 พิกเซล โดยภาพหน้าจอแนวนอนควรมีสัดส่วนภาพแบบ 16:9 (ขั้นต่ำ 1920x1080 พิกเซล) และภาพหน้าจอแนวตั้งควรมีสัดส่วนภาพแบบ 9:16 (ขั้นต่ำ 1080x1920 พิกเซล)
    • สําหรับเกม คุณต้องจัดให้มีภาพหน้าจอแนวนอนที่มีสัดส่วนภาพแบบ 16:9 (ขั้นต่ำ 1920x1080 พิกเซล) หรือภาพหน้าจอแนวตั้งที่มีสัดส่วนภาพ 9:16 (ขั้นต่ำ 1080x1920 พิกเซล) อย่างน้อย 3 ภาพ ตรวจสอบว่าภาพหน้าจอเหล่านี้แสดงให้เห็นประสบการณ์ในเกม เพื่อให้ผู้ใช้ทราบว่าเกมเพลย์จะเป็นอย่างไรหากดาวน์โหลดมาเล่น
  • ภาพหน้าจอต้องแสดงให้เห็นประสบการณ์จริงในแอปหรือในเกม โดยเน้นที่ฟีเจอร์และเนื้อหาหลักเพื่อให้ผู้ใช้คาดเดาได้ว่าประสบการณ์การใช้งานแอปหรือเล่นเกมจะเป็นอย่างไร
    • ใช้ฟุตเทจของแอปหรือเกมที่บันทึกไว้ อย่าใส่ภาพขณะที่ผู้ใช้โต้ตอบกับอุปกรณ์ (เช่น นิ้วแตะบนอุปกรณ์) เว้นแต่เกมเพลย์หลักหรือการใช้แอปจะอยู่นอกอุปกรณ์
  • เราอนุญาตให้ใช้ภาพหน้าจอที่ทำสไตไลซ์ซึ่งแบ่ง UI ในหลายรูปภาพที่อัปโหลด แต่ให้จัดลําดับความสําคัญของ UI ในภาพหน้าจอ 3 ภาพแรกให้ได้มากที่สุด

 

  • เพิ่มแท็กไลน์เพื่อสื่อถึงคุณลักษณะหลักของแอปหรือเกมเฉพาะเมื่อจําเป็นเท่านั้น แท็กไลน์ไม่ควรใช้พื้นที่เกิน 20% ของรูปภาพ
    • อย่าใส่เนื้อหาที่แสดงถึงหรือบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพใน Google Play, การจัดอันดับ, ความสําเร็จหรือรางวัล, คำนิยมจากผู้ใช้ หรือข้อมูลราคาและโปรโมชัน  เช่น "ดีที่สุด" "อันดับ 1" "สูงสุด" "ใหม่" "ลดราคา" หรือ "ดาวน์โหลดไปแล้วนับล้านครั้ง" 
    • หลีกเลี่ยงการเพิ่มคํากระตุ้นการตัดสินใจทุกรูปแบบ เช่น "ดาวน์โหลดเลย" "ติดตั้งเลย" "เล่นเลย" หรือ "ลองเลย"
    • หลีกเลี่ยงการใส่ข้อความตัวอักษรขนาดเล็กบนภาพหน้าจอมากเกินไปหรือใช้พื้นหลังที่แข่งกับข้อความ ซึ่งจะไม่ปรากฏในหน้าจอโทรศัพท์ส่วนใหญ่
  • หลีกเลี่ยงแท็กไลน์หรือเนื้อหาที่มีการจำกัดช่วงเวลาซึ่งอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความจำเป็นในการอัปเดต
    • เนื้อหาที่มีเงื่อนเวลา (เช่น อัปเดตสำหรับวันหยุดโดยเฉพาะ) ควรมีการนำขึ้นและออกในเวลาที่เหมาะสม
  • แปลกราฟิกและข้อความแสดงแบรนด์ตามความเหมาะสมกับตลาดและภาษาต่างๆ
    • ไม่จําเป็นต้องแปลภาษา UI ในเกมสำหรับแต่ละตลาด แต่ควรแปลแท็กไลน์หรือการวางซ้อนข้อความเพิ่มเติม
  • แก้ไของค์ประกอบส่วนเกินในแถบการแจ้งเตือนก่อนส่ง ไม่ต้องแสดงชื่อผู้ให้บริการหรือการแจ้งเตือนต่างๆ โลโก้แบตเตอรี่, Wi-Fi และสัญญาณมือถือควรเต็ม

 

  • ใช้รูปภาพคุณภาพสูงและมีสัดส่วนภาพที่เหมาะสม
    • อย่าใช้ภาพหน้าจอที่เบลอ บิดเบี้ยว หรือเป็นแบบพิกเซลโดยที่ไม่ได้เป็นไปตามความตั้งใจของแบรนด์ 
    • อย่าใช้รูปภาพที่ถูกยืดหรือบีบ
    • หมุนภาพหน้าจอให้เหมาะสม อย่าอัปโหลดรูปภาพกลับหัว ตะแคงข้าง หรือบิดเบี้ยว
  • หลีกเลี่ยงองค์ประกอบรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือซ้ำกัน เช่น
    • อักขระหรือโลโก้ที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง 
    • ภาพอุปกรณ์ (เพราะอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็วหรือทำให้ผู้ใช้บางรายรู้สึกแปลกแยก) 
    • ป้ายหรือไอคอนของ Google Play หรือร้านค้าอื่นๆ
  • ใส่ข้อความแสดงแทนไว้กับภาพหน้าจอแต่ละภาพ ข้อความแสดงแทนมีความสำคัญต่อผู้ใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอที่ไม่เห็นภาพหน้าจอที่คุณอัปโหลด ด้วยเหตุนี้ การใช้คำอธิบายข้อความแสดงแทนจะช่วยเพิ่มระดับการมองเห็นแอปได้อย่างมากในหมู่ผู้ใช้เทคโนโลยีความช่วยเหลือพิเศษ มาดูเคล็ดลับในการเขียนข้อความแสดงแทนกัน 

    • อย่าใช้คำว่า "ภาพถ่ายของ" หรือ "รูปภาพของ" เนื่องจากโปรแกรมอ่านหน้าจอให้ข้อมูลนี้อยู่แล้ว

    • ใช้บริบทเพื่อระบุส่วนสำคัญของรูปภาพโดยใช้อักขระไม่เกิน 140 ตัว ตัวอย่างเช่น "หน้าจอธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์"

วิดีโอตัวอย่าง

วิดีโอตัวอย่างมีประสิทธิภาพในการแสดงความสามารถ รูปลักษณ์ และประสบการณ์การใช้แอปให้ผู้มีโอกาสเป็นผู้ใช้เห็น เพื่อให้ค้นพบแอปและตัดสินใจได้ดีขึ้น เราขอแนะนำอย่างยิ่งให้ส่งวิดีโอตัวอย่างโดยเฉพาะสำหรับเกม (ไม่บังคับ) เกมของคุณต้องมีวิดีโอตัวอย่างเพื่อแสดงในบางส่วนของ Google Play

คุณเพิ่มวิดีโอตัวอย่างในข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ได้โดยป้อน URL ของ YouTube ในช่อง "วิดีโอตัวอย่าง"

  • ใช้ URL จากวิดีโอของ YouTube ไม่ใช่ URL จากเพลย์ลิสต์หรือช่องของ YouTube
  • อย่าเพิ่มพารามิเตอร์พิเศษ เช่น รหัสเวลา ใน URL ของ YouTube 
  • ใช้ลิงก์วิดีโอ YouTube แบบเต็มแทนการใช้ลิงก์แบบย่อ
    • ใช้: https://www.youtube.com/watch?v=yourvideoid
    • อย่าใช้: https://youtu.be/yourvideoid
  • ส่งวิดีโอที่แปลและปรับให้เหมาะกับผู้ใช้ในตลาดต่างๆ ทั่วโลก

การใช้งานเนื้อหา

วิดีโอตัวอย่างจะแสดงก่อนภาพหน้าจอในข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store ของแอปใน Google Play ผู้ใช้จะรับชมวิดีโอตัวอย่างได้โดยแตะปุ่มเล่นที่วางซ้อนบนกราฟิกเด่น

นอกจากนี้ วิดีโอตัวอย่างของคุณอาจแสดงใน Google Play ในลักษณะต่อไปนี้ได้

  • วิดีโอตัวอย่างอาจแสดงทั้งในหน้าการค้นหาและหน้าแรก
  • วิดีโอตัวอย่างอาจเล่นอัตโนมัติในหน้าโดยที่ปิดเสียงไว้นานสูงสุด 30 วินาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ของผู้ใช้ การตั้งค่า การเชื่อมต่อเครือข่าย และพื้นที่ที่วิดีโอแสดง เมื่อวิดีโอไม่เล่นอัตโนมัติ ปุ่มเล่นจะวางซ้อนอยู่บนกราฟิกเด่น
  • สำหรับเกม ในบางส่วนของ Google Play จะแสดงกลุ่มเกมแนะนำในรูปแบบขนาดใหญ่โดยใช้วิดีโอตัวอย่าง

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

  • ปิดใช้โฆษณาสำหรับวิดีโอที่จะแสดงใน Google Play เมื่อผู้ใช้เรียกดู Google Play เราต้องการให้ผู้ใช้เห็นวิดีโอเกี่ยวกับแอปไม่ใช่โฆษณาของผู้อื่น เพราะอาจทำให้ผู้ใช้สับสน โดยทำดังนี้
    • ปิดการสร้างรายได้ในวิดีโอ หรือ
    • อัปโหลดวิดีโออื่นที่ไม่มีการอ้างสิทธิ์การสร้างรายได้และอัปเดต URL ใน Play Console
      สำคัญ: หากวิดีโอใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ การปิดการสร้างรายได้ในวิดีโออาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้โฆษณาแสดง ในกรณีนี้ คุณจะต้องใช้วิดีโออื่น (ที่ไม่มีเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ซึ่งมีการอ้างสิทธิ์การสร้างรายได้)
  • กำหนดการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของวิดีโอเป็น "สาธารณะ" หรือ "ไม่เป็นสาธารณะ" อย่าตั้งค่าเป็น "ส่วนตัว"
  • อย่าใช้วิดีโอที่จํากัดอายุผู้ชม
  • ตรวจสอบว่าวิดีโอของคุณสามารถฝังได้ใน Google Play

แนะนำอย่างยิ่ง

  • วิดีโอควรสร้างความคาดหวังที่เหมาะสมและนําเสนอคุณค่าของแอปหรือเกมของคุณที่เหนือกว่าแอปหรือเกมอื่นๆ ที่คล้ายกัน 
    • แสดงให้เห็นประสบการณ์จริงในแอปหรือในเกม โดยเน้นที่ฟีเจอร์และเนื้อหาหลักให้เร็วที่สุดภายในช่วง 10 วินาทีแรกของวิดีโอ
    • พยายามให้เนื้อหาของวิดีโออย่างน้อย 80% แสดงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้ 
      • จำกัดจำนวนของหน้าจอชื่อ โลโก้ คัตซีน ตลอดจนเนื้อหาที่แสดงผลล่วงหน้าหรือเนื้อหาส่งเสริมการขายอื่นๆ 
      • เมื่อใช้ฟุตเทจที่แสดงผลล่วงหน้า คัตซีนและเนื้อหากราฟิกควรเป็นส่วนเสริมและสนับสนุนประสบการณ์จริงในเกม
    • รักษาวิดีโอให้สั้นและกระชับเนื่องจากจะมีการเล่นอัตโนมัติเพียงช่วง 30 วินาทีแรก ผู้ใช้ดูวิดีโอแบบเต็มได้โดยแตะที่วิดีโอ แต่เราขอแนะนําให้ทำวิดีโอที่สั้นกระชับ
    • อย่าใส่ภาพขณะที่ผู้ใช้โต้ตอบกับอุปกรณ์ (เช่น นิ้วแตะบนอุปกรณ์) เว้นแต่เกมเพลย์หลักหรือการใช้แอปจะอยู่นอกอุปกรณ์
    • ตรวจสอบว่าวิดีโอมีคุณภาพการผลิตสูงและตัดต่ออย่างดี วิดีโอไม่จําเป็นต้องสร้างแบบมืออาชีพ แต่จังหวะ เอฟเฟกต์ภาพ เอฟเฟกต์เสียง/เพลง การเปลี่ยนภาพ และการวางซ้อนข้อความควรเป็นไปอย่างราบรื่นและไปด้วยกันได้ดี
  • สร้างวิดีโอในแนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้ เนื่องจากหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store รองรับทั้ง 2 รูปแบบ 
    • เลือกการวางแนววิดีโอที่ตรงกับประสบการณ์การใช้งานแอปมากที่สุด
    • อย่าปล่อยให้มีแถบสีดําที่ด้านข้างของวิดีโอแนวตั้ง 
  • พิจารณาใช้คำอธิบายที่แสดงบริบทสำหรับผู้ใช้หากปิดเสียงวิดีโอไว้ (เช่น เมื่อวิดีโอเล่นอัตโนมัติ) เมื่อใช้คำอธิบาย
    • อย่าใส่เนื้อหาที่แสดงถึงหรือบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพใน Google Play, การจัดอันดับ, ความสําเร็จหรือรางวัล, คำนิยมจากผู้ใช้ หรือข้อมูลราคาและโปรโมชัน เช่น "ดีที่สุด" "อันดับ 1" "สูงสุด" "ใหม่" "ลดราคา" หรือ "ดาวน์โหลดไปแล้วนับล้านครั้ง" อนุญาตให้แสดงรางวัลที่ได้รับจาก Google Play เช่น "ที่สุดของ"
    • อย่าใช้คํากระตุ้นการตัดสินใจ เช่น "ดาวน์โหลดเลย" "ติดตั้งเลย" "เล่นเลย" หรือ "ลองเลย"
    • ตรวจสอบว่าข้อความนั้นอ่านได้ชัดเจนโดยใช้แบบอักษรที่อ่านได้ ขนาดตัวอักษรที่เหมาะสม และแสดงข้อความนานพอที่ผู้ใช้จะอ่านได้
  • หลีกเลี่ยงเนื้อหาหรือแท็กไลน์ที่มีการจำกัดช่วงเวลาซึ่งอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความจำเป็นในการอัปเดต 
    • เนื้อหาที่มีเงื่อนเวลา (เช่น อัปเดตสำหรับวันหยุดโดยเฉพาะ) ควรมีการนำขึ้นและออกในเวลาที่เหมาะสม
  • แปลวิดีโออย่างเหมาะสม รวมทั้ง UI, แท็กไลน์ และเสียง
  • ใช้คำบรรยายแทนเสียงสำหรับวิดีโอตัวอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ที่หูหนวกหรือมีปัญหาในการได้ยิน รวมถึงผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง

แบนเนอร์ TV

คุณต้องมีเนื้อหาแบนเนอร์เพื่อเผยแพร่แอปที่พร้อมใช้งาน Android TV เมื่อสร้างเนื้อหาแบนเนอร์ ให้คิดว่าเนื้อหาแบนเนอร์เป็นเหมือนไอคอนของแอปใน Android TV

หมายเหตุ: เนื้อหาแบนเนอร์ของแอปจะแสดงในอุปกรณ์ Android TV เท่านั้น

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

  • JPEG หรือ PNG 24 บิต (ไม่มีอัลฟ่า)
  • ขนาด: 1280 x 720 พิกเซล
ภาพสามมิติ 360 องศา

หากต้องการเผยแพร่แอปที่รองรับ Daydream คุณจะต้องเพิ่มภาพสามมิติ 360 องศา ไปยังหน้าข้อมูลผลิตภัณฑ์ใน Store

เมื่อสร้างภาพสามมิติ 360 องศา ให้คิดว่าภาพนี้เป็นเหมือนภาพพื้นหลังของแอปใน Play Store ในอุปกรณ์ Daydream

หลักเกณฑ์เนื้อหา

ข้อกำหนด

  • JPEG หรือ PNG 24 บิต (ไม่มีอัลฟ่า)
  • ขนาด: 4096 x 4096 พิกเซล
  • สเตอริโอ 360°
  • ขนาดไฟล์สูงสุด: 15 MB

 

ข้อมูลนี้มีประโยชน์ไหม

เราจะปรับปรุงได้อย่างไร

หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

ค้นหา
ล้างการค้นหา
ปิดการค้นหา
แอป Google
เมนูหลัก